วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ยอดจองซื้อ “บัวหลวง Small–Mid Cap RMF” ล้น

ยอดจองซื้อ “บัวหลวง Small–Mid Cap RMF” ล้น

 บลจ.บัวหลวงปลื้มยอดจองซื้อกองทุน บัวหลวง Small–Mid Cap RMF เต็มจำนวน 500 ล้านบาทของมูลค่าโครงการ มั่นใจตอบโจทย์การลงทุนระยะยาวและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างลงตัว
      
       รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า หลังจาก บลจ.ได้เสนอขาย IPO กองทุนเปิดบัวหลวง Small-Mid Cap เพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ B-SM-RMF ระหว่างวันที่ 12 ถึง 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ได้รับความสนใจและการตอบรับจากผู้ลงทุนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้มียอดจองเข้ามาเต็มจำนวน 500 ล้านบาทของมูลค่าเงินลงทุนตามโครงการเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากฐานลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ และกลุ่มผู้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่สนใจกระจายการลงทุนในกองทุน RMF ประเภทกองทุนหุ้นมายังกลุ่มบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งเป็นจุดเด่นของกองทุนที่แตกต่างจากกองทุน RMF อี่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยสามารถลงทุนระยะยาวประมาณ 3-5 ปีขึ้นไปได้
      
       ทั้งนี้ หุ้นขนาดเล็กและขนาดกลางที่กองทุนบัวหลวงจะพิจารณาลงทุนจะเป็นหุ้นของบริษัทที่มีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ณ วันที่ลงทุน มีฐานะมั่นคง มีศักยภาพและแนวโน้มการเติบโตดี และทีมจัดการกองทุนเห็นว่ามีมูลค่าต่ำกว่าราคาที่เหมาะสม ที่สำคัญคือ ต้องผ่านเกณฑ์เรื่องการกำกับกิจการที่ดีด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนว่าบริษัทที่ลงทุนแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็เป็นบริษัทที่ไว้ใจได้เพราะมีผู้บริหารที่ดี มีธรรมาภิบาลซึ่งเป็นเรื่องที่กองทุนบัวหลวงให้ความสำคัญมาโดยตลอด
      
       นอกจากนี้ กองทุนบัวหลวงยังมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ และกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยส่วนที่กองทุนไม่ได้ลงทุนในหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลาง ผู้จัดการกองทุนอาจพิจารณาลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่บางส่วน รวมถึงเงินฝากธนาคารและตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่อง เพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องโดยไม่เสียโอกาสการลงทุนด้วย
      
       กองทุนเปิดบัวหลวง Small-Mid Cap เพื่อการเลี้ยงชีพ (B-SM-RMF) จึงนับเป็นกองทุนหุ้นเฉพาะกลุ่มที่จะช่วยเติมเต็มและสร้างทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนมากขึ้น จากปัจจุบันที่กองทุน RMF ของกองทุนบัวหลวงมี 7 กองทุน ตั้งแต่กองทุนหุ้นทั่วไป กองทุนหุ้นที่เน้นหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนผสมที่เน้นหุ้น เน้นตราสารหนี้ กองทุนตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนทองคำ

ที่มา
http://www.manager.co.th/MutualFund/ViewNews.aspx?NewsID=9550000141132