วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ธปท.จับตาแห่ตุนเก็งกำไรเงินดอลลาร์ หุ้นดิ่งฉุดค่าบาทอ่อนหลุด31

ธปท.จับตาแห่ตุนเก็งกำไรเงินดอลลาร์ หุ้นดิ่งฉุดค่าบาทอ่อนหลุด31

เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ล่าสุดหลุด 31 บาทต่อดอลลาร์ บิ๊กแบงก์ชาติเผยที่มาต่างชาติเทขายหุ้น-พันธบัตรนำเงินออก จับตานักลงทุนแห่ตุนดอลลาร์หวังเก็งกำไรค่าเงิน มั่นใจเงินบาทยังเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มภูมิภาคและพร้อมจะเข้าไปดูแล หากผันผวนมากเกินไป

ค่าเงินบาทวานนี้ (26 ก.ย.) ปิดตลาดอ่อนค่าลงมาแตะ 31.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างหนัก เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าค่อนข้างมากเกิดจาก 3 แหล่งสำคัญ คือ 1.นักลงทุนต่างชาติมีการเทสินทรัพย์ภายในประเทศทั้งส่วนของหุ้นและพันธบัตรแล้วนำเงินบาทแลกกลับเป็นเงินดอลลาร์ออกนอกประเทศ

2.ผู้นำเข้ามีการซื้อเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น เพราะห่วงว่าทิศทางเงินบาทอ่อนค่าลงไปอีก และ3.จากสถานการณ์ราคาทองปรับตัวลดลงส่งผลให้มีผู้ค้าทองคำช้อนซื้อเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ความต้องการเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น

ธปท.มีความเป็นห่วงต่อตลาดการเงินโลกที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก แต่มองว่าหากปัญหาหนี้ยุโรปมีความชัดเจนขึ้น สถานการณ์ทุกอย่างก็จะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของ ธปท.พร้อมจะเข้าไปดูแลหากเงินบาทมีความผันผวนมากเกินไป แต่เท่าที่ดูสถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้นและเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มภูมิภาคอยู่

“เราพยายามติดตามสถานการณ์ว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยดูว่าบาทอ่อนเกิดจากอะไร มากกว่าคนอื่นหรือไม่ หากเงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลกระทบในช่วงต่อไปอย่างไร รวมไปถึงเงินบาทอ่อนจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างไรบ้าง ” รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังคงไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคและยังไม่เห็นมีอะไรที่ผิดสังเกต อาจจะมีแค่แรงซื้อทองคำมากกว่าคนอื่นเขาบ้าง ซึ่งเราจับตาเรื่องนี้ต่อไป

**หวังต่างชาติกลับมาลงทุนไทยต่อ***
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่กรุงวอชิงตันดี.ซี.ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางโลกว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเข้าสู่ระดับปกติมากพอสมควรแล้ว ส่วนสถานการณ์เงินทุนไหลออกในขณะนี้น่าจะเกิดจากปัจจัยที่นักลงทุนต้องการลดความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงจากความไม่มั่นใจเศรษฐกิจโลก แต่เชื่อว่าในระยะปานกลางจะมีเงินทุนต่างชาติไหลกลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง

ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000122593

ฝรั่งขายทิ้งบอนด์ไทยขนเงินกลับบ้าน เผยวอลุ่มพุ่งวันละ7แสนล.

ฝรั่งขายทิ้งบอนด์ไทยขนเงินกลับบ้าน เผยวอลุ่มพุ่งวันละ7แสนล.

วิกฤติหนี้ยุโรปทุบตลาดตราสารหนี้ไทย บิ๊ก สบน.เผยฝรั่งแห่ขายพันธบัตรขนเงินหนีออกนอกประเทศ เมินใช้เป็นแหล่งพักเงินชั่วคราว พร้อมแจงแผนกู้เงินปี 55 วงเงิน 6.9 แสนล้านบาทชดเชยขาดดุล-ชำระหนี้เอฟไอดีเอฟและรีไฟแนนซ์ไทยเข็มแข็ง หวังล็อกต้นทุนคงที่ระยะยาว ที่ประหยัดต้นทุนกว่าอัตราดอกเบี้ยลอยตัว

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องโดยมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) หายไปกว่า 1 ล้านล้านบาทแล้วนั้น พบว่าเงินจากการเทขายหุ้นส่วนใหญ่ไหลออกไปนอกประเทศแล้ว ต่างจากก่อนหน้านี้ที่เงินจากตลาดหุ้นจะไหลเข้ามาสู่ตลาดพันธบัตรเพื่อพักไว้ชั่วคราว อีกทั้งยังมีการขายพันธบัตรนำเงินออกไปด้วยเช่นกัน เห็นได้จากสัปดาห์ที่ผ่านมามีมูลค่าซื้อขายเพิ่มจาก 5 แสนกว่าล้านบาทเป็น 7 แสนล้านบาทต่อวัน

ทั้งนี้ มองว่าการที่นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการถือเงินสดแทนที่จะโยกเงินลงทุน เนื่องจากกังวลปัญหาเศรษฐกิจโลกและจากความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก นอกจากนั้นในช่วงนี้ยังมีการเทขายบาทออกมาและถือดอลลาร์ไว้แทน ส่งผลให้เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงด้วย ซึ่งก็น่าจะส่งผลดีกับการส่งออกของไทย หากลงไปถึง 35 บาทต่อดอลลาร์ผู้ส่งออกคงยิ่งพอใจ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะลงทุนในตราสารหรือพันธบัตรระยะสั้นแทนที่จะลงทุนระยะยาว เพราะพันธบัตรอายุ 1ถึง 5 ปีนั้นดอกเบี้ยไม่ได้แตกต่างกัน นักลงทุนจึงเลือกถือ 1 ปีมากกว่า ขณะที่พันธบัตรระยะยาว 10 ปีนั้น ดอกบี้ยอยู่ที่ 3.9% ปรับขึ้นมาเกน้อยจาก 3.7% ซึ่งถือว่ายังไม่ผันผวนและเป็นต้นทุนที่ไม่สูงมากนักในการระดมทุนของภาครัฐ โดยเห็นว่าสภาพคล่องในประเทศยังมีอยู่มาก ในระยะเวลาอันใกล้นี้ดอกเบี้ยระยะสั้นก็น่าจะเริ่มปรับลดลง ประกอบกับเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงจึงไม่เป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องใช้ดอกเบี้ยนโยบายเข้าไปดูแล จากนั้นสถานการณ์ก็น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับแผนการกู้เงินในปีงบประมาณ 2555 รวมทั้งปี 6.9 แสนล้านบาท โดยเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทและกู้เพื่อปรับโครงสร้างเงินกู้ (รีไฟแนนซ์) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอีก 3.4 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันอาจจะเพิ่มการรีไฟแนนซ์เงินกู้ในโครงการไทยเข้มแข็งอีก 1.49 แสนล้านบาทด้วย หากเห็นว่าสภาพตลาดเอื้ออำนวย เนื่องจากเงินกู้ไทยเข้มแข้งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จึงต้องการปรับมาเป็นดอกเบี้ยคงที่ เพราะดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวยังต่ำ จากพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ 3.8-3.9% เท่านั้น จะช่วยประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยลงได้

สำหรับการกู้เงินในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2555(ตุลาคม-ธันวาคม 2554) ค่อนข้างน้อยเพียง 1.24 แสนล้านบาท เพราะเป็นการกู้เพื่อมารีไฟแนนซ์กองทุนฟื้นฟูฯเป็นหลัก เพราะพรบ.งบประมาณปี 2555 ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภา จึงไม่สามารถกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ โดยจะเป็นการออกพันธบัตร 3.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นอายุ 5 ปี 1.5 หมื่นล้านบาท อายุ 7 ปี 9 พันล้านบาทและอายุ 4 ปี 8 พันล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการตั๋วสัญญาใช้เงิน(พีเอ็น) 8.9 หมื่นล้านบาทและออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ที่จะขายผ่านตู้เอทีเอ็มในต้นปี 2555 อีก 3,000 ล้านบาท

“เดิมเราคาดว่าแผนการกู้เงินปีนี่จะสูงถึง 7.4 แสนล้านบาท เพราะประมาณการงบประมาณปี 2555 จะขาดดุล 4 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลได้ลดการขาดดุลงบประมาณลง 5 หมื่นล้านบาทเหลือ 3.5 แสนล้านบาท การกู้เงินก็ลดลงตามไปด้วย และคาดว่าพรบ.งบประมาณปี 2555 น่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งจะทำให้สบน.สามารถออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ โดยจะเป็นการออกพันธบัตรที่มีผลตอบแทนอัตราอ้างอิงของตลาดได้ 3.68 แสนล้านบาทในช่วง 3 ไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ”นายจักรกฤศฏิ์กล่าว

ด้านหนี้รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกันนายจักรกฤศฏิ์กล่าวว่า ขณะนี้นี้ต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นสกุลเงินเยนถึง 70-80% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด รองลงมาเป็นหนี้ดอลลาร์สหรัฐและยูโร ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินกู้ขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร(รฟม.)ที่มีหนี้ประมาณ 2.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 65% ของหนี้รัฐบาลที่มีรวมทั้งสิ้น 3.7 แสนล้านบาท แต่ไม่ได้ทำการป้องการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน(ฟอร์เวิร์ด)ไว้ล่วงหน้า ทำให้ปัจจุบันต้องรับรู้จากผลจากทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไปแล้ว 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ของการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีปัญหาอะไร

“หนี้ของ รฟม.เป็นปัญหามากและเป็นภาระต่องบประมาณ เพราะเดิมกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมให้ และเคยเสนอในช่วงที่เงินเยนอ่อนค่าลง ด้วยการทำฟอร์เวิร์ดจากดอกเบี้ย 0.75% เป็น 1.25% แต่ได้กำไรจากอัตราจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 8 พันล้านบาท แต่เขาไม่ยอมทำ และปล่อยมาจนปัจจุบันต้องขาดทุนจากการที่ค่าเงินเยนแข็งขึ้นแล้ว 1 หมื่นล้านบาท หากรวมแล้วจะหายไปถึง 1.8 หมื่นล้านบาททีเดียว ซึ่งเป็นปัญหามาก เพราะกระทรวงการคลังเองก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่ใช่คู่สัญญาเงินกู้ จึงทำได้เพียงการตั้งงบประมาณชดเชยให้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยมา 5 ปี ซึ่งก็ครบอายุแล้ว และน่าจะต่ออายุให้อีก ช่วงหลังๆเราจึงทำได้คือ การกู้เงินในประเทศแล้วนำมาปล่อยกู้ต่อ เพราะรู้ว่า ฐานะของรฟม.ไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้อยู่แล้ว” นายจักรกฤศฎิ์กล่าว

ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000122596

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

“จรัมพร” แจงต้นเหตุตลาดหุ้นป่วน สภาฯ “ตลาดทุน” ชงแผนรับมือวิกฤตรอบใหม่

“จรัมพร” แจงต้นเหตุตลาดหุ้นป่วน สภาฯ “ตลาดทุน” ชงแผนรับมือวิกฤตรอบใหม่

“จรัมพร” แจงหุ้นไทยร่วงหนัก เกิดจากแรงขายหุ้นกลุ่มบิ๊กแคป ยันพื้นฐาน บจ.ยังแข็งแกร่ง และไม่มีปัญหาฟอร์ซเซลล์ สภาธุรกิจตลาดทุนฯ ชี้ ตลาดหุ้นทั่วโลก กำลังเผชิญวิกฤตในรอบใหม่ ชงตั้งกองทุนพยุงหุ้น เลียนแบบ “วายุภักษ์” เชื่อความแข็งแกร่งหุ้นไทยรอบนี้ ดีกว่าช่วงซับไพรม์ พร้อมเสนอ 7 แนวทางให้ “รบ.ปู” กู้วิกฤต จี้ปรับนโยบายเชิงรุก-ตั้งรับ เชื่อหุ้นไทยร่วงหนักวันนี้ เกิดจากความตื่นตระหนก ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยืนยันว่า การที่ตลาดหุ้นที่ไทยปรับตัวลงไปกว่า 8-9% ในชั่วโมงการซื้อขาย เกิดจากแรงขายหุ้นกลุ่มบิ๊กแคป ทั้งพลังงานและน้ำมัน ที่มีมาร์เก็ตแคปรวมกันอยู่ที่ 27% ปรับตัวลงไป 9% กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีมาร์เก็ตแคป 18% ปรับลงไป 7% กลุ่มก่อสร้างปรับลงไป 7% และกลุ่มสื่อสารปรับตัวลงไป 6%

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แล้ว พบว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และยังไม่มีปัญหาในเรื่องของการบังคับขายหุ้น (forced sell) เพราะถ้าดูจากมาร์จิ้นโลนทั้งระบบในปัจจุบันอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในระดับปกติ ซึ่งทางตลท.ก็คุมเข็มในเรื่องมาร์จิ้นโลนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

ขณะนี้การบังคับขายหุ้น (forced sell) เฉลี่ยอยู่ที่ 0.5-1.0% เท่านั้น ซึ่งมองว่ายังไม่มีนัยสำคัญ โดยหุ้นที่ปรับตัวลงแรงเกิดจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่ตื่นตระหนกมากกว่า

“หุ้น 4 กลุ่มหลักปรับตัวลง ทำให้ตลาดโดยรวมปรับลงแรงผิดปกติ แต่ถ้ามองพื้นฐานบจ.ยังไม่เปลี่ยน ยังมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในหุ้นไทยอยู่ ว่าได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลในเกณฑ์ที่ดี สำหรับข้อเสนอในการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ ถือว่าเป็นมาตรการในระยะกลาง ซึ่งอยู่ในพื้นฐานของสภาตลาดทุนไทยอยู่แล้ว”

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับความเสี่ยงขาลงครั้งใหญ่ และภาวะตลาดทุนโลกที่เผันผวนและแรงเทขาย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย จึงเสนอนโยบาย 7 ข้อ ต่อรัฐบาลไทย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยและตลาดทุนไทย สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ หลังจากที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา ส่วนข้อเสนอมีดังนี้

1.เสนอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายต่างๆ ที่ได้ประกาศไปช่วงก่อนการเลือกตั้งและให้มีการปรับปรุงและเรียงลำดับความสำคัญใหม่ เพื่อให้รองรับการผลกระทบจากการชะลอของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบมาถึงประเทศไทย โดยรัฐบาลอาจจำเป็นต้องเก็บงบประมาณบางส่วน เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากเกิดวิกฤตรอบ 2

2.รัฐบาลอาจต้องทบทวนนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เพราะการขึ้นค่าแรงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวอาจทำให้ผู้ประกอบการเลือกลดต้นทุนการผลิตด้วยการปลดคนงาน จึงเสนอให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

3.เสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากเอกชนด้วย

4.สภาฯ สนับสนุนนโยบายลดภาษีนิติบุคคล จาก 30% เป็น 20% จึงขอเสนอให้รัฐบาลประกาศยืนยันนโยบายนี้อีกครั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ

5.เนื่องจากมีแรงเทขายในตลาดหุ้นอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลงต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก จึงเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนในลักษณะเดียวกันกับกองทุนวายุภักษ์ เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานดี

6.ขอเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนนโยบายการเงิน และหากสามารถชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อน ก็จะช่วยลดความผันผวนในตลาดทุนได้

7.เสนอให้รัฐบาลรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้การขาดดุลทางการคลัง และหนี้สาธารณะเพิ่มมากหรือเร็วจนเกินไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบ


ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000122416

สะพัดเม็ดเงินดูไบไหลเข้า ดันหุ้นยืนเหนือ 900 ตลท.แจงระบบป่วนช่วงหลุด 90 จุด

สะพัดเม็ดเงินดูไบไหลเข้า ดันหุ้นยืนเหนือ 900 ตลท.แจงระบบป่วนช่วงหลุด 90 จุด

ตลาดหุ้นโงหัวขึ้นเหนือ 900 จุด ได้สำเร็จ สะพัดเม็ดเงิน “ดูไบ” ไหลเข้า นักลงทุนผวาคำสั่งห้ามชอร์ตเซล “พีอาร์ ตลท.” ชี้แจง กรณีขึ้นเครื่องหมาย H ช่วงที่ดัชนีปรับลงใกล้ระดับ 10% เกิดจากระบบขัดข้อง ยันไม่ได้ใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ชี้แจงกรณีระบบซื้อขายขึ้นเครื่องหมาย H เมื่อเวลา 14.37 น.หลังจากที่ดัชนีร่วงลง 90.15 จุด ไปที่ระดับ 868.01 จุด หรือคิดเป็น -9.42% โดยยืนยันว่า ตลท.ไม่ได้มีการประกาศใช้มาตรการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว (Curcuit Breaker) ตามที่มีกระแสข่าวออกมา แต่เกิดจากระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ขัดข้องชั่วคราว โดยเบื้องต้น คาดว่า เป็นเหตุที่เกิดทางเทคนิค ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุ

โดยเมื่อเวลา 15.15 น.ดัชนีตลาดหุ้นไทยดีดตัวกลับมายืนเหนือ 900 จุดได้สำเร็จ แต่ที่ระดับ 902.59 จุด ลดลง 55.57 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -5.80% มูลค่าการซื้อขาย 34,940.20 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่า นักลงทุนกลับเข้าซื้อหลังลงลึกเกินพื้นฐาน ขณะที่ระบุข่าวสะพัดเงินไหลจากดูไบเข้าพยุงตลาดหุ้นไทย ขณะที่ข่าวลืออีกกระแสได้สะพัดออกมาว่า ตลาดหลักทรัพย์สั่งห้ามชอร์ตเซล

ต่อมาเมื่อเวลา 16.28 น. ดัชนีอยู่ที่ระดับ 907.01 จุด ลดลง 51.15 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -5.34% มูลค่าการซื้อขาย 45,337.52 ล้านบาท

ล่าสุด ดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดที่ระดับ 904.06 จุด ลดลง 54.10 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -5.65% มูลค่าการซื้อขาย 47,630 ล้านบาท

ทีมา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000122392

ก.ล.ต.เรียกขวัญนักลงทุน แนะใช้ความรอบคอบ-อย่าตื่นตระหนกเทขาย

ก.ล.ต.เรียกขวัญนักลงทุน แนะใช้ความรอบคอบ-อย่าตื่นตระหนกเทขาย

ก.ล.ต.เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน หลังตลาดหุ้นร่วงหนัก ยันระบบซื้อขาย และฐานะของผู้ให้บริการในตลาดทุน มีความมั่นคงเพียงพอ แนะให้ใช้ความรอบคอบ ตัดสินใจ อย่าตื่นตระหนก

นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่าถึงการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทย และตลาดซื้อขายล่วงหน้า (อนุพันธ์) เช้าวันนี้ เป็นผลจากการปรับตัวและความผันผวนของราคาในตลาดโลก ซึ่ง ก.ล.ต.มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและขอให้ความมั่นใจว่าระบบการซื้อขาย การชำระเงิน และส่งมอบหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ ซึ่งรวมถึงฐานะความมั่นคงของผู้ให้บริการในตลาดทุน เช่น ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) และตัวแทนซื้อขายสัญญา ซื้อขายล่วงหน้ามีความมั่นคง

“ดัชนีหลักทรัพย์ ราคาทองคำ และโลหะเงิน วันนี้ ร่วงลงหนักทุกตลาด ดังนั้น ก.ล.ต.ขอเรียนว่า การซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ลงทุนควรตัดสินใจด้วยความรอบคอบ อย่าตื่นตระหนก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีทิศทางเติบโตและฐานะของบริษัทจดทะเบียนยังคงแข็งแกร่ง”

ทั้งนี้ ก.ล.ต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะประสานงานและติดตามข้อมูลที่อาจเกิดผลกระทบกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างใกล้ชิด เพื่อเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อไป


ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000122312

แบล็กมันเดย์ หุ้นไทยดิ่งเหว 75 จุด ดัชนีหลุด 900 ต่างชาติ ถล่ม-รายย่อยโดนฟอร์ซเซล

แบล็กมันเดย์ หุ้นไทยดิ่งเหว 75 จุด ดัชนีหลุด 900 ต่างชาติ ถล่ม-รายย่อยโดนฟอร์ซเซล

ตลาดหุ้นไทยโคม่า ดัชนีภาคเช้าร่วงหนัก 74.39 จุด หลุดระดับ 900 เรียบร้อยแล้ว คาดแนวโน้มลงลึกถึงระดับ 850 โบรกเกอร์ คาด นักลงทุนต่างชาติขนเงินออกจากหุ้น เพื่อกลับไปชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ พร้อมกับมีแรงกดดันจากการเทขายของนักลงทุนสถาบัน และแรงขายของนักลงทุนรายย่อยที่ถูกฟอร์ซเซล

ภาวะตลาดหุ้นไทย วันนี้ ดัชนีภาคเช้าผันผวนอย่างหนัก มีแรงเทขายในหุ้นพื้นฐานดีขนาดใหญ่ ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลงหนักเกือบ 8% หลุดระดับ 900 จุด เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อเวลา 12.30 น. ดัชนีอยู่ที่ระดับ 883.23 จุด ลดลง 74.93 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -7.82% มูลค่าการซื้อขาย 24,813.25 ล้านบาท

ทั้งนี้ 5 อันดับ หลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายสูงสุด ได้แก่ PTT ปิดที่ 264.00 บาท ลดลง -26.00 บาท, BANPU ปิดที่ 524.00 บาท ลดลง -62.00 บาท, SCC ปิดที่ 265.00 บาท ลดลง -19.00 บาท, BBL ปิดที่ 136.00 บาท ลดลง -9.50 บาท และ PTTCH ปิดที่ 91.25 บาท ลดลง -8.75 บาท

นักวิเคราะห์ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ ดัชนีร่วงลงค่อนข้างหนักรับแรงกดดันจากภายนอกประเทศ หลังตลาดหุ้นต่างประเทศเช้านี้ปรับตัวลงต่อ จากความกังวลเรื่องการแก้ไขปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นักลงทุนต่างชาตขนเงินออกจากหุ้นในหลายประเทศ เพื่อกลับไปชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ พร้อมกับมีแรงกดดันจากการเทขายของนักลงทุนสถาบัน และแรงขายของนักลงทุนรายย่อยที่ถูกบังคับขายหุ้น (Forced Sell) ในส่วนที่ได้กู้ยืมเงินจากโบรกเกอร์เพื่อไปซื้อหุ้นด้วย จึงยิ่งฉุดให้ดัชนีร่วงแรง

นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาระบุว่า อาจมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลง จึงแนะนำให้ชะลอลงทุน และถือเงินสดให้มากที่สุดไว้ก่อน

“แนวโน้มในช่วงบ่าย คาดว่าจะยังคงปรับตัวลดลงต่อได้อีก หากหลุดแนวรับ 930 จุด ก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอีก จึงมองว่าแนวรับถัดไปน่าจะอยู่ที่ 850 จุด กลยุทธ์การลงทุน แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนก่อน และถือเงินสดรอ อย่าเพิ่งเข้าซื้อในตอนนี้ ให้รอจนกว่าแรงขายเริ่มลดลง และดัชนีเริ่มยืนอยู่ได้”

ทั้งนี้ พบว่า ลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CGS จำนวน 8 ราย ได้ถูกบังคับขายหุ้น (Forced Sell) ไปแล้ว โดยหุ้นที่ถูกบังคับขายจะเป็นหุ้นในกลุ่ม SET100 ซึ่งก็จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อถูกบังคับขายแล้ว ผลออกมานักลงทุนยังขาดทุนอยู่ ทางโบรกเกอร์เองก็จำเป็นจะต้องนำทรัพย์สินที่ลูกค้าวางค้ำประกันไว้ที่บริษัท นำมาหักกลบลบหนี้ส่วนที่เหลือให้หมดไป



ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000122299

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ต่างชาติขนเงินออกทุบค่าบาทร่วง เผยธนาคารกลางเตรียมเข้าแทรกแซง

ต่างชาติขนเงินออกทุบค่าบาทร่วง เผยธนาคารกลางเตรียมเข้าแทรกแซง

เงินบาทอ่อนค่าหนักใกล้หลุด 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังทุนต่างชาติเริ่มไหลออก แนะจับตาธนาคารกลางทั่วเอเชีย เข้าแทรกแซงค่าเงินในประเทศ เพื่อชะลอความผันผวน ขณะที่ ธปท. ดูแลตลาดใกล้ชิด ชี้ สถานการณ์ยังไม่น่ากังวล

รายงานภาวะค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 (วานนี้) เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 30.76-30.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดย ระหว่างวันปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากการไหลออกเงินทุนต่างชาติ จนปิดตลาดที่ระดับ 30.86-30.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าเป็นการถอนลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้น โดยดัชนีหลักทรัพย์ของไทยปรับลงหนัก 2 วันซ้อนกว่า 70 จุด ส่งผลให้มูลค่าตลาดหายไปถึง 2.65 แสนล้านบาท

นักบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ไทย เชื่อว่าในช่วง 1-2 วันนี้ ธนาคารกลางทั่วเอเชีย รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในปริมาณที่สูงขึ้น เพื่อดูแลไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ มากนัก

ทั้งนี้ การผันผวนของค่าเงินเอเชีย รวมทั้งค่าเงินบาท เกิดจากความกังวลของนักลงทุนต่างชาติต่อปัญหาวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศยุโรป โดยเฉพาะความกังวลว่าจะลุกลามไปยังอิตาลีซึ่งเป็นตลาดพันธบัตรขนาดใหญ่ในกลุ่มยุโรป ส่งผลให้เกิดการเทขายสินทรัพย์ทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นในเอเชียรวมทั้งไทย เพื่อเข้าไปถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น

สำหรับกรณีของปัญหาดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง โดยในช่วงระยะสั้น1-2 เดือน นับจากนี้เป็นต้นไป คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าแตะระดับ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ และหากปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปได้รับการแก้ไขดีขึ้น ค่าเงินบาทในช่วง 6-12 เดือนนับจากนั้น จะกลับมาแข็งค่าในระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลกลับ

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ได้ติดตามดูสถานการณ์ในตลาดการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งเห็นว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไทยช่วงนี้ยังไม่มีประเด็นใดที่น่ากังวล ส่วนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐซึ่งอ่อนค่าลงก็เป็นไปทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค และที่ผ่านมา ธปท.ก็ไม่ได้เข้าไปดูแลแต่อย่างใด

โดยในส่วนของผู้ส่งออกเริ่มเห็นว่า หลังจากเงินบาทอ่อนค่าลง ก็มีการขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ออกมากันค่อนข้างมาก ขณะที่ผู้นำเข้าเป็นผู้ซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินค่อนข้างมีเสถียรภาพ ส่วนการลงทุนในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นช่วง 2-3 วันมานี้ก็เริ่มมีแรงขายออกมาค่อนข้างมากเช่นกัน

ขณะที่รายงานทุนสำรองระหว่างประเทศของ ธปท. วันที่ 16 กันยานยน 2554 มีจำนวน 184,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ฐานะเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิมี 27,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมแล้วมีทุนสำรองฯ สุทธิ 211,900 ล้านเดอลลาร์สหรัฐฯ


ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000121652

"จรัมพร" แถลงสร้างความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย คาดวิกฤตรอบนี้เงินไหลออก 1.5 แสนล้าน

"จรัมพร" แถลงสร้างความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย คาดวิกฤตรอบนี้เงินไหลออก 1.5 แสนล้าน

"จรัมพร" แถลงสร้างความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย ลั่นยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการเสริมพิเศษ เพื่อเข้าไปดูแล แต่จะเฝ้าระวัง "มาร์จิ้นโลน" คาดหากลงแรงจะมีฟอร์ซเซลไม่มาก เพราะมีบัญชีเพียง 3 หมื่นล้าน น้อยกว่าปี 40 ที่มีสูงถึง 1 แสนล้าน ยอมรับเป็นห่วงเงินทุนไหลออก คาดจบวิกฤตรอบนี้ ต่างชาติขนเงินกลับ 1.5 แสนล้าน น้อยกว่าปี 51 ขณะที่ TFEX หยุดซื้อขาย Silver Futures ครึ่งชม. หลังราคาฯ ร่วง 10% หุ้นภาคบ่ายอาการดีขึ้น แต่ยังอยู่ในแดนลบ และปิดตลาดปรับตัวลดลง 32.43 จุด

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในการแถลงข่าวสร้างความเชื่อมั่นกรณีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงถึง 5% เมื่อเช้าวันนี้ โดยระบุว่า การปรับตัวลงแรงของดัชนีเกิดจากปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แต่จะเฝ้าระวังเรื่องการใช้สินเชื่อเพื่อซื้อหุ้น (มาร์จิ้นโลน) ซึ่งในปัจจุบันในระบบมีอยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับระดับที่น่ากังวลตอนปี 2540 ที่มาร์จินโลนอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท

ส่วนการบังคับขายหุ้น (ฟอร์ซเซล) ในขณะนี้ ยืนยันว่ายังไม่น่าเป็นห่วง เพราะนักลงทุนที่ลงทุนตลาดหุ้นผ่านระบบมาร์จิน มีสัดส่วนไม่มาก อย่างไรก็ตาม ตลท. เตรียมมาตรการปกติที่วางหลักเกณฑ์ไว้คือเซอร์กิต เบรกเกอร์ หากดัชนีลงไปลึกถึง 10% เพื่อพักการซื้อขายหลักทรัพย์ช่วงหนึ่ง ก่อนเปิดให้มีการซื้อขายตามปกติ

"ยังไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อดูแลตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ แม้ว่าในช่วงเช้าที่ผ่านมาจะร่วงลงไปลึกกว่า 5% ในระหว่างเทรด เนื่องจากเป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ ปัจจุบันมีเม็ดเงินลงทุนผ่านมาร์จิ้นเพียง 3 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าคงถูกฟอร์ซเซลไม่มาก และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลดาหุ้นไทย"

สำหรับสาเหตุของการปรับลงของตลาดหุ้นทั่วโลก นายจรัมพร ระบุว่า เกิดจากการโยกเงินออกจากตลาดหุ้น และสินทรัพย์เสี่ยงไปหลบภัยในพันธบัตร ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่ามีเงินไหลออกมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม มองว่ายังมีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคเพื่อนำเงินกลับไปสำรองไว้ชดเชยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ในสถานการณ์ดังกล่าว มองว่าเป็นโอกาสดีของการเข้าลงทุนของนักลงทุนในประเทศ โดยในส่วนของแรงขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้ 3 หมื่นล้านบาทนั้น นายจรัมพร กล่าวว่า ยังน้อยกว่าปี 2551 ที่ต่างชาติขายถึง 1.6 แสนล้านบาท

"คิดว่าวิกฤตตลาดหุ้นในรอบนี้ น่าจะมีเงินไหลออกใกล้เคียงกับปี 2551 ที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งมีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยจำนวนกว่า 1.5 แสนล้านบาท"

นายจรัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวตนเองได้มีการรายงานข้อมูลให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับทราบแล้ว และเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยวันนี้คงยังไม่ถึงขั้นต้องใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ เพื่อหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว

ด้านตลาดอนุพันธ์ ประกาศหยุดทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า Silver Futures เป็นการชั่วคราว ในวันที่ 23 กันยายน 2554 ตั้งแต่เวลา 15.05 น. ตามที่ราคาซื้อขายของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโลหะเงิน (Silver Futures) ในวันที่ 23 กันยายน 2554 เวลา 15.05 เปลี่ยนแปลงลดลงจากราคาที่ใช้ชำระราคาและส่งมอบล่าสุด (Latest Settlement Price) คิดเป็น 10%

ทั้งนี้ ตลาดอนุพันธ์ จะเปิดทำการซื้อขายอีกครั้งในเวลา 15.35 น. และกำหนดให้เริ่มช่วง Pre-open ตั้งแต่เวลา 15.25 น. ถึง 15:35 น. (10 นาทีก่อนเปิดการซื้อขาย) และจะขยาย Daily Price Limit จาก +/-10% เป็นไม่เกิน +/-20% ของราคาที่ใช้ชำระราคาและส่งมอบล่าสุด (Latest Settlement Price)

ส่วนภาวะตลาดหุ้นไทยภาคบ่าย เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นแต่ยังคงแกว่งตัวอยู่ในแดนลบ โดยเมื่อเวลา 15.27 น. ดัชนีอยู่ที่ระดับ 957.78 จุด ลดลง 32.81 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -3.31% มูลค่าการซื้อขาย 38,044.01 ล้านบาท

ล่าสุด ดัชนีปิดตลาดที่ระดับ 958.16 จุด ลดลง 32.43 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -3.27% มูลค่าการซื้อขาย 50,108.85 ล้านบาท

ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000121451

"ไอเอ็มเอฟ" ชี้ ศก.โลก เข้าสู่ภาวะอันตราย "มูดีส์" หั่นเครดิตธนาคารกรีซ 8 แห่งรวด

"ไอเอ็มเอฟ" ชี้ ศก.โลก เข้าสู่ภาวะอันตราย "มูดีส์" หั่นเครดิตธนาคารกรีซ 8 แห่งรวด

ไอเอ็มเอฟ ชี้ ระบบการเงินโลกกำลังเข้าสู่ภาวะอันตราย นับตั้งแต่เกิดวิกฤต ศก.ปี 51 แนะผู้นำทั่วโลกต้องร่วมมือร่วมใจใช้มาตรการกู้วิกฤตให้ผ่านพ้นให้ได้ "มูดีส์" ประกาศหั่นเครดิต เงินฝาก-หุ้นกู้ ธนาคารกรีซ 8 แห่ง แนวโน้มยังเป็นลบ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกรายงานว่าด้วยเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก ระบุว่าขณะนี้ระบบการเงินโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงมากกว่าครั้งใดๆ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 โดยไอเอ็มเอฟ เตือนว่าตอนนี้ธนาคารหลายแห่งของยุโรปกำลังมีสถานะอ่อนแอและจำเป็นต้องเพิ่มทุนอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าปัญหาหนี้ยูโรโซนได้พ่นพิษทำให้ธนาคารในสหภาพยุโรปต้องสูญเงินไปแล้วกว่า 2 แสนล้านยูโร นับตั้งแต่วิกฤตเริ่มต้นเมื่อปลายปี 2552 ก่อนหน้านี้ ไอเอ็มเอฟ เพิ่งประกาศหั่นตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจยุโรปลง จากผลกระทบของวิกฤติหนี้สินที่กำลังรุมเร้า พร้อมกับแนะว่าถึงเวลาแล้วที่ยุโรปต้องก้าวข้ามความไม่ลงรอยและหันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ ไอเอ็มเอฟ กล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ระยะที่เป็นอันตรายครั้งใหม่แล้ว พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกใช้มาตรการที่สอดคล้องกันในการจัดการวิกฤตในครั้งนี้

"เรามองเห็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับช่วงขาลง ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะฟื้นตัว แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นก็น้อยกว่าในช่วง 3 ปีที่แล้ว ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ร่วมกัน"

นอกจากนี้ นางลาการ์ดกล่าวว่า ทุกประเทศทั่วโลก "มีการเชื่อมต่อกันอย่างมาก" โดยผ่านช่องทางทางการเงินและโครงร้างทางการเงิน โดยเธอย้ำว่า ภาวะผู้นำที่รวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพ และการตัดสินใจร่วมกันทางการเมือง ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยกอบกู้วิกฤตการณ์ในครั้งนี้

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อเงินฝากระยะยาวและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารกรีซ 8 แห่ง ลง 2 ขั้น โดยให้แนวโน้มความน่าเชื่อถือของเงินฝากระยะยาวและหุ้นกู้ของแบงก์ทั้งหมดนี้เป็นเชิงลบ

มูดีส์ ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือเนชั่นแนล แบงก์ ออฟ กรีซ เอสเอ (Ntaional Bank of Greece SA) , อีเอฟจี ยูโรแบงก์ เอร์แกเซียส เอสเอ หรือยูโรแบงก์ , อัลฟา แบงก์ เออี, พีเรอุส แบงก์ เอสเอ, อะกริคัลเจอรัล แบงก์ ออฟ กรีซ และแอตทิกา แบงก์ เอส ลงสู่ระดับ Caa2 จากระดับ B3

นอกจากนี้ มูดีส์ยังได้ลดอันดับความน่าเชื่อของธนาคารเอ็มเพอริกี แบงก์ ออฟ กรีซ และเจนเนอราล แบงก์ ออฟ กรีซ ลงสู่ระดับ B3 จากระดับ B1

ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000121355

หุ้นไทยดิ่ง 50 จุด ผวาตลาดเข้าสู่ภาวะหมี ตลท. เตรียมแถลงเรียกความเชื่อมั่น

หุ้นไทยดิ่ง 50 จุด ผวาตลาดเข้าสู่ภาวะหมี ตลท. เตรียมแถลงเรียกความเชื่อมั่น

หุ้นไทยร่วง 50 จุด ตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก หลังดาวโจนส์วูบกว่า 400 จุด เมื่อคืนนี้ คาดทิศทางหุ้นทั่วโลกเข้าสู่ภาวะหมี "จรัมพร" เรียกถกด่วนผู้บริหาร ตลท. รับมือสถานการณ์วิกฤต พร้อมเปิดแถลงข่าวเรียกความเชื่อมั่น

ภาวะตลาดหุ้นไทย วันนี้ ดัชนีเปิดภาคเช้าปรับตัวลงค่อนข้างแรง ตามทิศทางตลาดหุ้นในต่างประเทศ โดยเมื่อเวลา 12.01 น. ดัชนีอยู่ที่ 943.59 จุด ลดลง 48.54 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -4.90% มูลค่าซื้อขายกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท

นักวิเคราะห์ระบุว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยเปิดมาในช่วงเช้าร่วงแรงต่อเนื่องจากเมื่อวาน เป็นตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก หลังดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงหนักกว่า 400 จุดเมื่อคืนนี้ เป็นผลมาจากความวิตกกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะความผิดหวังต่อมาตรการสว็อปพันธบัตรของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมทั้งปัญหาหนี้ยูโรโซนกดดันทางจิตวิทยาการลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเข้าสู่ภาวะหมี

ทั้งนี้ มองว่าผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลจิตวิทยาในเชิงลบต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหายูโรโซนมีแนวโน้มหนักกว่าปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะการรวมกลุ่มส่งผลให้เศรษฐกิจอ่อนแอ ดังนั้น มีโอกาสกลุ่มยูโรโซนอาจจะแตก

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เรียกหารือด่วนผู้บริหาร ตลท. หลังดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงไปลึกสุดถึง 50 จุด โดยทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการเสนอให้เปิดแถลงข่าวเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน คาดว่าจะเริ่มหลังปิดเทรดช่วงเช้านี้ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้

ล่าสุด ดัชนีหุ้นไทยปิดภาคเช้าที่ระดับ 947.98 จุด ลดลง 42.61 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -4.30% มูลค่าการซื้อขาย 28,538.45 ล้านบาท เป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

ฝ่ายสื่อสารองค์กร ตลท. แจ้งเพิ่มเติมว่า ในเวลา 13.30 น. นายจรัมพร เตรียมแถลงข่าวที่ห้องผู้สื่อข่าวตลาดหลักทรัพย์ถึงมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการลงทุน ทั้งนี้ จากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 หุ้นไทยร่วงลงแรงตามต่างประเทศจนเกิดข้อตกลงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุนตั้งแต่ ตลท. กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าหากระดับดัชนีลดลงสู่ระดับ 4-5 % จะมีออกหนังสือเตือนผู้ลงทุนให้ลงทุนอย่างระมัดระวัง ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ก็เตรียมหารือมาตรการร่วมกัน เพื่อหาวิธีรับวิกฤตดังกล่าว ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการหนึ่งที่รองรับก่อนที่จะใช้การสั่งพักการซื้อขายชั่วคราว (เซอร์กิจเบรกเกอร์) ที่ใช้เมื่อดัชนีร่วงถึง 10%

ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000121347

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

เทสโก้ โลตัส เตรียมจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาฯ มูลค่า 1.4 หมื่นล้าน



เทสโก้ โลตัส เตรียมจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาฯ มูลค่า 1.4 หมื่นล้าน

เทสโก้ โลตัส เตรียมจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาฯ มูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ขายนักลงทุนในประเทศ เตรียมดันศูนย์การค้า 15 แห่งเข้ากองทุน โดยเทสโก้จะเป็นผู้เช่าพื้นที่

บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส) ประกาศแผนจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก และจดทะเบียนหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย

โดยเบื้องต้นคาดว่า กองทุนรวมนี้จะประกอบด้วยศูนย์การค้าทั้งหมด 15 แห่งกระจายตามทำเลที่ดีเยี่ยมทั่วประเทศ และมีมูลค่าประเมินของทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 14,000 ล้านบาท ศูนย์การค้าเหล่านี้ประกอบด้วยศูนย์การค้าที่กองทุนรวมจะเป็นเจ้าของ (Freehold Assets) และศูนย์การค้าที่ได้รับสิทธิการเช่า (Leasehold Assets) ทั้งนี้ เทสโก้ โลตัส จะยังคงเช่าพื้นที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตในศูนย์การค้าทั้ง 15 แห่งจากกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่อไป

เทสโก้ โลตัส จะถือหน่วยลงทุนไม่เกินร้อยละ 33 ในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามกฏเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และจะมีการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยด้วย

นายคริส บุช ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส เป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกของไทยมาโดยตลอด โดยเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกแบบสมัยใหม่และนำเสนอสินค้าและบริการที่แปลกใหม่ เพื่อลูกค้าของเรา เราได้ลงทุนไปแล้วกว่า 130,000 ล้านบาท ปัจจุบันเรามีพนักงานกว่า 37,000 คนทั่วประเทศ และให้บริการลูกค้ากว่า 35 ล้านคนต่อเดือน

“การเสนอขายหน่วยลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้เราได้ลงทุนเพื่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ต่อลูกค้า เรายินดีที่ลูกค้า พนักงาน คู่ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการเติบโตและความสำเร็จของเทสโก้ โลตัสต่อไป”

ทั้งนี้ เทสโก้ได้ยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.เรียบร้อยแล้ว โดยการเสนอขายครั้งนี้จะเป็นการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และจะเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์สินที่เป็นศูนย์การค้าที่มีทำเลครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุด ทั้งในกรุงเทพมหานคร จังหวัดสำคัญในภูมิภาคต่างๆ และเมืองท่องเที่ยวชั้นนำ

อย่างไรก็ดี รายละเอียดและโครงสร้างสุดท้ายของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นี้จะขึ้นอยู่กับการอนุมัติของสำนักงาน ก.ล.ต.และสภาวะตลาด ซึ่งทางเทสโก้จะได้แจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมให้ทุกฝ่ายได้ทราบในโอกาสต่อไป

ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000120451

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

กูรูแนะทยอยเก็บหุ้นตลาดเกิดใหม่ หลังศก.ยุโรป-สหรัฐฯยังน่าเป็นห่วง

กูรูแนะทยอยเก็บหุ้นตลาดเกิดใหม่ หลังศก.ยุโรป-สหรัฐฯยังน่าเป็นห่วง

นักวิเคราะห์กองทุนรวม แนะนักลงทุนชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หลังวิกฤติหนี้ยุโรป และปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่มีท่าที่จะคลี่คลายลง พร้อมแนะนักลงทุนหาจังหวะทยอยสะสมกองทุนหุ้นในตลาดเกิดใหม่

นายสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล Fund SuperMart Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรายังคงมองเห็นโอกาสที่ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะผันผวนต่อจากสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนต่อการแก้ปัญหาในสหรัฐ/ยุโรป ซึ่งไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยตลาดยังคงหวังมาตรการช่วยเหลือในระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาหนี้ยุโรปและการว่างงานในสหรัฐต่อไป ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงช่วงระยะสั้นนี้ทำได้ยาก เราจึงแนะนำเพียง Wait and See ชะลอการลงทุนระยะสั้น และจับตาความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปและเศรษฐกิจสหรัฐอย่างใกล้ชิดต่อไป เช่นเดียวกับการลงทุนกองทุนทองคำ ที่เราคงคำแนะนำให้ชะลอการลงทุน และรอสะสมที่แนวรับสำคัญของราคาทองคำ

โดยมีแนวรับที่ 1,800 US$/oz. และ 1,700 US$/oz. กองทุนแนะนำยังคงเป็นกองทุนทองคำที่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่าง TGoldBullion-Hedge จุดเด่นที่ทำให้เราแนะนำกองทุนทองคำของบลจ.ธนชาต คือ มีค่าใช้จ่ายกองทุนที่ไม่แพงและมีระยะเวลาการรับเงินจากการขายกองทุนที่รวดเร็ว (ระยะเวลาที่จะได้เงินคืนคือ T+1) นอกจากนั้นเรายังคงแนะนำ K-GOLD ของ บลจ.กสิกรไทย (มีนโยบายจ่ายปันผล) และ ASP-GOLD ของบลจ.Asset Plus (ไม่มีการจ่ายปันผล) เป็นทางเลือกในการลงทุนกองทุนทองคำต่อไป สำหรับกองทุนน้ำมันเราแนะนำทยอยขายทำกำไรบางส่วน ราคาน้ำมันยังคงติดอยู่ที่แนวต้านระดับ 90 US$/bbl. แนวโน้มคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันยังคงอ่อนไหวกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีโอกาสปรับตัวลงได้ทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าระยะสั้นยังมีความผันผวนอยู่ แต่ระยะกลาง - ยาวมองเป็นโอกาสสะสมสินทรัพย์เสี่ยงที่ราคาปรับตัวลงมามาก เราจึงยังคงแนะนำทยอยสะสมหากเห็นดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลง โดยเน้นไปยังกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่า ขณะที่ภาระปัญหามีน้อยกว่าฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นอีกรอบมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า สำหรับกองทุนที่แนะนำให้ทยอยสะสมเมื่อราคาปรับตัวลดลงได้แก่ ABGEM และ ABAPAC สำหรับกองทุนจีนที่แนะนำยังคงเป็น ABCG คาดการณ์เงินเฟ้อจีนชะลอตัวในระยะถัดไป เป็นข่าวดีสำหรับการลงทุนในจีน

นอกจากนี้ เราคงคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกองทุนหุ้นกลุ่มอุตสหกรรมการเงิน (Financial Sector) ที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตหนี้ประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ยังคงชอบกองทุน Global Bond Fund ของ บลจ.ธนชาต, บลจ.ทหารไทย และบลจ.ซีไอเอ็มบี ซึ่งทั้งหมดใช้บริการกองทุนหลัก (Master Fund) เหมือนกัน อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นอาจได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐที่กลับมาแข็งค่าขึ้น แต่ระยะยาวเรายังเชื่อว่าการลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศที่ไม่มีปัญหาหนี้ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

สำหรับตลาดหุ้นไทย แนวโน้ม SET ยังแกว่งตัว Sideway ทิศทางไม่ชัดเจน เราคงคำแนะนำเดิมสำหรับนักลงทุน LTF ที่ต้องการลงทุนในปีนี้ ให้รอดูสถานการณ์ และเข้าทยอยสะสมเพิ่มหาก SET ปรับลดลงมาใกล้แนวรับ 1,030 และ 1,010 จุด โดยแนะนำกองทุนของบลจ.กรุงศรี กองทุนเปิดอยุธยาหุ้นระยะยาวปันผล (KFLTFDIV) ตามเดิม สำหรับนักลงทุนที่ได้สับเปลี่ยนกลับเข้าสู่กองทุน LTF ความผันผวนต่ำ (Defensive LTF) แล้วแนะนำ Wait and See ต่อไป






ที่มา
http://www.manager.co.th/MutualFund/ViewNews.aspx?NewsID=9540000119949

ปัญหากรีซส่อแว่วดื้อยาต่อ ดันราคาทองพุ่งแต่หุ้นผันผวน

ปัญหากรีซส่อแว่วดื้อยาต่อ ดันราคาทองพุ่งแต่หุ้นผันผวน

บลจ.กสิกรไทยคาด วิกฤตหนี้ยุโรปยืดเยื้อ หลังกรีซส่อแว่วดื้อยา ทำตามเกณฑ์ไอเอ็มเอฟไม่ได้ ระบุหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทยยังผันผวนต่อ แต่มั่นใจระยะยาวยังน่าลงทุน ขณะที่ราคาทองคำยังคงเป็นบวกสิ้นปีอาจแตะ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ได้

รายงานจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า มุมมองของบริษัทต่อสถานการณ์ในยุโรปคาดว่าน่าจะยังมีความยืดเยื้อและมีการติดตามถึงการแก้ไขปัญหาของประเทศในกลุ่มยุโรปอย่างใกล้ชิดและเชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะยังเป็นปัจจัยที่กดดันดัชนีหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทยให้มีความผันผวนและไม่ได้ปรับขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนปัจจัยภายในประเทศเราเชื่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะส่งผลบวกต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย การลงทุนในกองทุนหุ้นเพื่อทำกำไรระยะสั้นจึงเป็นไปได้ยาก แต่การลงทุนในระยะยาวแบบสะสมเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลงอาจเป็นสิ่งที่น่าพิจารณา โดยเราคาดการณ์ SET Index อยู่ที่ 1,200 จุดในช่วงสิ้นปี สำหรับทองคำเรามีมุมมองที่เป็นบวกโดยเชื่อว่าจะอยู่ที่ระดับราคา 1,800 - 2,000 ณ สิ้นปี

ส่วนสาเหตุที่นักลงทุนยังให้ความกังวลกับสถาการณ์ของประเทศกรีซ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศกรีซก็ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น แม้จะได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2010 โดยจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 ในต้นปี 2011

อย่างไรก็ตามแม้ความช่วยเหลือดังกล่าวจะทำให้ตลาดคลายวิตกลงได้บ้างแต่จากข้อกำหนดที่ว่ากรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือก็ต่อเมื่อกรีซปฎิบัติตามแผนฟื้นฟูที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านั้นได้สร้างความวิตกกังวลให้กับตลาดอีกครั้งเมื่อรัฐบาลกรีซมีความล่าช้าในการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูที่ตกลงไว้ (ซึ่งอาจทำให้กรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจนถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้หรืออาจต้องถอนตัวออกจากประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร)

ทั้งนี้ ธนาคารขนาดใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสหลายแห่งที่มีการปล่อยกู้ให้แก่กรีซเป็นจำนวนมากอาจได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงจากการที่กรีซไม่สามารถชำระหนี้ได้ และยังเกิดผลกระทบต่อเนื่องมายังสถาบันการเงินระดับโลกอีกหลายแห่ง เนื่องจากทั่วโลกและธนาคารในสหรัฐอเมริกาเกิดความไม่เชื่อมั่นในการปล่อยกู้ให้กับธนาคารในยุโรปอย่างเคย

ประเด็นข้างต้นได้ส่งผลบวกให้กับราคาทองคำพอสมควรแม้ว่าราคาทองคำจะถูกกดดันบ้างจากการที่ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนได้มองสินทรัพย์ 2 ประเภทดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยง (Safe Haven) (ราคาทองปรับขึ้น 13% ตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคม 2011 จนปัจจุบัน)

เมื่อพิจารณาถึงประเทศไทยนั้น คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากวิกฤตในยุโรปแต่อย่างใดเพราะธนาคารในประเทศไทยจัดว่าเกือบจะไม่มีสัดส่วนการปล่อยกู้ให้กับธนาคารในยุโรปเลย โดยธนาคารแห่งหนึ่งที่มีสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรยุโรปสูงที่สุดในประเทศมีสัดส่วนการลงทุนในภูมิภาคดังกล่าวไม่ถึง 1% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นน่าจะมีอยู่จำกัดหากวิกฤตครั้งนี้ได้รับการแก้ไขที่ดีหรือไม่ขยายวงกว้างจนเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงทั่วโลก โดย ณ ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังยุโรปคิดเป็นเพียงประมาณ 10% ของสัดส่วนทั้งหมดเท่านั้น

ส่วนกองทุนรวมภายใต้การจัดการของ บลจ.กสิกรไทย ถึงแม้จะมีสัดส่วนการลงทุนในยุโรป แต่ก็ไม่มีสัดส่วนการลงทุนในประเทศกรีซ แต่จะลงทุนในประเทศในกลุ่มยุโรปที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง อาทิกองทุนเคโกลบอล อิควิตี้ (K-GLOBE) ซึ่งลงทุนในกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารทุนของประเทศต่างๆทั่วโลก จากข้อมูลล่าสุดกองทุน K-GLOBE มีสัดส่วนการลงทุนในยุโรปเฉพาะในประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และมีสัดส่วนการลงทุนในยุโรปต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึงเท่าตัวโดยประมาณ ส่วนกองทุนเค โกลบอล อิเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ออพพอร์ทูนนิตี้ (K-GEMO) ที่ลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ที่อยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกมีการลงทุนในยุโรปเฉพาะในประเทศที่มิได้ประสบปัญหาวิกฤตหนี้สิน เช่น ตุรกี ฮังการี และอังกฤษ และเป็นสัดส่วนที่ไม่ถึง 15% ของขนาดกองทุน

ขณะที่กองทุนเปิดเค โกลบอล แอลโลเคชั่น (K-GA) ซึ่งเน้นการลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ทั่วโลก แม้จะลงทุนทั่วโลกกว่า 900 หลักทรัพย์ แต่ก็ไม่มีสัดส่วนการลงทุนทั้งในกรีซ และยังให้น้ำหนักในหุ้น และตราสารหนี้ของภูมิภาคยุโรปต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานด้วย



ที่มา
http://www.manager.co.th/MutualFund/ViewNews.aspx?NewsID=9540000119950

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

หุ้นไทยสัปดาห์หน้า ผันผวน-มีโอกาสปรับฐาน กลุ่มอสังหาฯ-รถยนต์ พยุงดัชนี

หุ้นไทยสัปดาห์หน้า ผันผวน-มีโอกาสปรับฐาน กลุ่มอสังหาฯ-รถยนต์ พยุงดัชนี

ค่ายรวงข้าวมองหุ้นไทย สัปดาห์หน้า ผันผวน-มีโอกาสปรับฐาน แนะจับตาปัญหาหนี้ยุโรปส่อเค้าวิกฤต ส่งผลให้สถานการณ์อาจเลวร้ายกว่าที่คิดไว้ ขณะที่บางค่ายเชื่อหุ้นไทยผันผวนขาขึ้น เพราะอาจมีการเก็งกำไรหุ้นอสังหาฯ และรถยนต์ ขานรับข่าวนโยบายรัฐบาล ช่วยพยุงดัชนีหุ้นไทยไปต่อได้

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด และบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์แนวโน้มตลาดหุ้นไทย สัปดาห์หน้า (วันที่ 12-16 กันยายน 2554) โดยมองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสผันผวน และอาจเข้าสู่ช่วงปรับฐาน นักลงทุนควรต้องติดตามสถานการณ์หนี้ยุโรปอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงการประมูลพันธบัตรอิตาลีในวันที่ 12 กันยายน 2554

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจจีน

ขณะที่ตลาดคาดการณ์กันว่า ปัญหาหนี้ในยุโรปส่อเค้าเลวร้ายลง เพราะขาดองค์กรกลางที่จะเป็นเจ้าภาพเข้ามาจัดการ และรับมือวิกฤตภาคธนาคารที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางแห่งประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงไม่ถึงขั้นเลวร้าย เพราะอาจมีการเก็งกำไรหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มยานยนต์ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลน่าจะมีความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และยานยนต์ ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการลงทุนกระเตื้องขึ้นมาได้บ้าง


ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000115137

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

บสก.รับซื้อหนี้SCB เข้าพอร์ต5.2พันล้าน ชูผู้นำฟื้นฟูเศรษฐกิจ

บสก.รับซื้อหนี้SCB เข้าพอร์ต5.2พันล้าน ชูผู้นำฟื้นฟูเศรษฐกิจ

บสก.ชูบทบาทผู้นำการบริหารหนี้-เอ็นพีเอ หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว ล่าสุดรับซื้อ NPL จากSCB เข้ามาบริหารจัดการอีก จำนวน 5,298 ล้านบาท จากจำนวนลูกหนี้ 981 ราย คาดทั้งปีรับซื้อหนี้และทรัพย์รอการขายจากสถาบันการเงินอีกกว่า 20,000 ล้านบาท

วานนี้ (7 ก.ย.) นายสุเมธ มณีวัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) และนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้ร่วมลงนามในสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) จำนวนมูลหนี้รวม 5,298 ล้านบาท จากจำนวนลูกหนี้ 981 ราย

โดยนายสุเมธ กล่าวว่า ลูกหนี้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล คิดเป็น 64% และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในเขตต่างจังหวัด 36% ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไป บสก.จะมีหนังสือแจ้งให้ลูกค้ารับทราบ เพื่อเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลัก และมุ่งเน้นวิธีการเจรจาประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย แม้จะเป็นหนี้ที่อยู่ในระหว่างการฟ้องร้องบังคับคดี บสก. ก็เปิดโอกาสให้ลูกค้ากลับมาเจรจาประนอมหนี้ได้ใหม่ โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ และส่งกลับคืนระบบเศรษฐกิจตามปกติต่อไป

" บสก.ทยอยรับซื้อรับโอนหนี้จากสถาบันการเงินมาแล้ว 4,275 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อเอ็นพีเอ มูลค่า 6,000 ล้านบาท คาดว่าจะทราบผลภายในสัปดาห์นี้ โดยก่อนหน้านี้ได้รับซื้อเอ็นพีเอจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มาบริหารอีก จำนวน 93 รายการ มูลค่า 675 ล้านบาท ดังนั้นในปีนี้ บสก. คาดว่าจะสามารถรับซื้อรับโอนทั้ง 2 ประเภทได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าที่วางไว้ " นายสุเมธกล่าว

ปัจจุบัน บสก. มีเอ็นพีเอ ในความดูแลทั้งสิ้น 44,286 ราย คิดเป็นมูลค่า 234,723 ล้านบาท ขณะที่มีเอ็นพีเอ จำนวน 14,173 ราย คิดเป็นมูลค่า 35,971 ล้านบาท โดยวัตถุประสงค์หลักของการรับซื้อทรัพย์สินจากธนาคารพาณิชย์มาบริหารจัดการ มุ่งเน้นการเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐที่จะช่วยแก้ปัญหาและลดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงิน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต


ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000113728

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

แห่เทขายกดหุ้นไทยรูด15จุด ผิดหวังตัวเลขสหรัฐฯ กังวล ศก.สู่ช่วงถดถอย

แห่เทขายกดหุ้นไทยรูด15จุด ผิดหวังตัวเลขสหรัฐฯ กังวล ศก.สู่ช่วงถดถอย

นักลงทุนผิดหวังตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯ จนกังวลเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยทั้งในอเมริกาและยุโรป แห่เทขายฉุดหุ้นไทยดิ่ง 15 จุด ตามตลาดอื่นในภูมิภาค โบรกฯมองปัจจัยในประเทศไร้ข่าวใหม่สนับสนุน อีกทั้งหุ้นใหญ่หลายตัว XD ประเมินวันนี้มีโอกาสอยู่ในแดนลบต่อ

ตลาดหุ้นไทย วานนี้ (5ก.ย.) ดัชนีผันผวนอยู่ในแดนลบ โดยปิดที่ระดับ 1,049.23 จุด ลดลง 15.95 จุด หรือ -1.50% มูลค่าการซื้อขาย 21,589.65 ล้านบาท ระหว่างวันปรับตัวสูงสุดที่ระดับ 1,059.55 จุด และต่ำสุดที่ระดับ 1,046.64 จุด ซึ่งเป็นการลดลงค่อนข้างมากเช่นเดียวกับตลาดภูมิภาคที่อยู่ในแดนลบถ้วนหน้า หลังตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯที่ประกาศออกมาไม่ดีนัก

โดยหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวานนี้ เพิ่มขึ้น 111 หลักทรัพย์ ลดลง 376 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 117 หลักทรัพย์ และหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ PTT มูลค่าการซื้อขาย 1,942,94 ล้านบาท ปิดที่ 324.00 บาท ลดลง 4.00 บาท PTTEP มูลค่าการซื้อขาย 1,084,01 ล้านบาท ปิดที่ 162.50 บาท ลดลง 4.50 บาท KBANK มูลค่าการซื้อขาย 933,03 ล้านบาท ปิดที่ 125.00 บาท ลดลง 3.00 บาท BANPU มูลค่าการซื้อขาย 904,94 ล้านบาท ปิดที่ 624.00 บาท ลดลง 16.00 บาท และ TOP มูลค่าการซื้อขาย 826,31 ล้านบาท ปิดที่ 65.00 บาท ลดลง 2.00 บาท

ทั้งนี้ พบว่า นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 1,931.12 ล้านบาท เช่นเดียวกับ สถบัน และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่ขายสุทธิ 184.98 ล้านบาท โดยมีเพียงนักลงทุนทั่วไปที่ซื้อสุทธิ 3,548.96 ล้านบาท

นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายการตลาด บล.ธนชาต กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้ปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีความกังวลมากขึ้นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐฯและยุโรป หลังตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆออกมาไม่ค่อยดี ทำให้ตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ปรับตัวลงเฉลี่ย 1% กว่า ส่วนด้านปัจจัยภายในประเทศ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รอเพียงความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาล

ทำให้ต้องรอดูทิศทางตลาดหุ้นยุโรปที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงอีก จากความกังวลที่ทางการสหรัฐฯได้ยื่นฟ้อง 17 สถาบันการเงินขนาดใหญ่ ซึ่งในนั้นมีสถาบันการเงินในยุโรปอยู่ด้วย กรณีที่ไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ในการขายตราสารซับไพรม์ให้กับหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤตเมื่อตอนปลายปี 2551 ว่าจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยมากน้อยแค่ไหน

น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์วานนี้ปิดลบกว่า 15 จุด จากปัจจัยในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศการจ้างงานยังคงออกมาไม่ดีนัก ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ตลาดหุ้นเอเชียต่างได้รับแรงกดดันกันถ้วนหน้า และตลาดหุ้นในภูมิภาคยุโรปเปิดตลาดมาต่างอยู่ในแดนลบเช่นเดียวกัน แต่คืนนี้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาปิดทำการเนื่องจากวันแรงงานด้วย ส่วนปัจจัยในประเทศไม่มีอะไรใหม่ที่ช่วยผลักดันตลาดหุ้น ทำให้มูลค่าการซื้อขายน้อยอีกด้วย

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในวันนี้ (6 ก.ย.) ประเมินว่าดัชนียังคงอยู่ในแดนลบต่อ เนื่องจากวันนี้มีหุ้นใหญ่หลายตัว XD ทั้ง PTT KBANK BAY ดังนั้นช่วงนี้แนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนหรือเก็งกำไรในหุ้นในวงจำกัด พร้อมให้แนวรับ 1,030 จุด แนวต้าน 1,055-1,059 จุด

ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000112537