วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พบสัญญาณเงินนอกป่วนไทย ธปท.ผวาเฮจด์ฟันด์คืนชีพ-เตือนรับมือ

ธปท.เตือนผู้ส่งออก-นำเข้า เตรียมพร้อมรับมือตลาดเงินผันผวน แนะทำประกันความเสี่ยง พบสัญญาณเงินร้อนต่างชาติทะลักเข้าตลาดเอเชีย กังวลเฮจด์ฟันด์คืนชีพป่วนตลาดเงินโลก ชี้ ไทยเสี่ยงสูง เพราะมีส่วนต่างฟันกำไร 3 ต่อ ทั้งตลาดหุ้น ดอกเบี้ย และค่าเงินบาท

วานนี้ นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของค่าเงิน" จัดโดยกรมสำนักส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ โดยคาดว่า ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งหลังปี 2553 จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก และขณะนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เชื่อภาพรวมทั้งปีจะยังฟื้นต่อและขยายตัวต่อเนื่อง โดยไม่น่าจะมีการเกิดวิกฤติรอบ 2 อีกครั้ง (Double Dip) จากเหตุการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจยุโรป อย่างที่มีการคาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงความเสี่ยงของค่าเงินบาทจะมีมากขึ้น ด้วยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจยุโรปจากปัญหาหนี้สหรัฐ โดยเฉพาะผลของการตรวจสอบความมั่งคงของสถาบันการเงิน ในภาวะวิกฤต (Stress Testing) จำนวน 90 แห่งเพื่อประเมินความเพียงพอของกองทุน ในยุโรปนั้น หากผลออกมาไม่ดีจะกระทบต่อสถาบันการเงินในประเทศฝรั่งเศส และเยอรมันที่ลงทุนในตราสารหนี้สกุลยุโรปโดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาหนี้สาธารณะค่อนข้างมากซึ่งจะกระทบค่าเงินยูโรให้อ่อนค่าต่อเนื่อง

ขณะที่การว่างงานในสหรัฐฯ ที่กลับมาติดลบอีกครั้ง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ส่วนประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกน้อยทำให้หลายประเทศกำลังทยอยปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงิน และการคลัง โดยหลายประเทศรวมทั้งไทยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเงินเฟ้อมากขึ้น

"มองว่าในเอเชียแทบทุกประเทศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกันหมดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สำหรับธปท.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 0.25% แม้จะทำให้ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ช่วยลดแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อลงได้" อย่างไรก็ตามส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศในกลุ่มจี 3 ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น กับเอเชีย ส่งผลให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายจากตะวันตก มายังเอเชียรวมถึงประเทศไทยมากขึ้น เพื่อหาช่องทางในการทำกำไร"

ดังนั้น ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก ควรติดตามการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากต่างประเทศ ที่เข้ามาในไทยจะมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งจะไหลเข้าออกเร็วมากขึ้น และคงเกิดขึ้นหลายรอบ จะมีผลโดยตรงต่อค่าเงินบาท ช่วงนี้ก็เริ่มเห็นการกลับเข้ามาลงทุนของกองทุนเก็งกำไร (Hedge Fund) อีกครั้ง หลังจากที่ล้มตายไปจำนวนมากในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา แต่ต้องยอมรับว่า เป็นปกติของตลาดการเงินและตลาดการค้าโลก ที่เมื่อเห็นช่องทาง ก็ต้องมีการเก็งกำไร

จากการที่เงินทุนต่างประเทศยังมีแนวโน้มที่จะไหลเข้าไทยมากขึ้นย่อมส่งผลต่อค่าเงินบาทให้มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดยต่างชาติจะนำเงินมาลงทุนในประเทศไทย อาจเห็นโอกาสที่จะทำกำไรถึง 3 เด้ง คือ จากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้น และแนวโน้มค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้น ดังนั้น นอกเหนือจากเงินทุนจะไหลเข้ามาลงทุนในระยะยาวแล้ว เงินที่จะเข้ามาเก็งกำไรก็มีมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อความสนใจในการตั้งเฮจด์ฟันด์กองใหม่ๆ และการกลับมาของกองทุนเก่าๆ เริ่มเห็นชัดขึ้น ที่ผ่านมาคู่ค้าของธปท.บางราย ยังบอกว่ากำลังตั้งเฮจด์ฟันด์ขึ้นมาเพื่อเข้าไปทำกำไรตลาดเงินในประเทศที่เศรษฐกิจยังดีอยู่

"หากไทยไม่ต้องการให้เฮดจ์ฟันด์เข้ามา หรือมีการเก็งกำไรในตลาดการเงินบ้านเรามากเกินไป ควรต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจให้ดี และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นมากที่สุด เพราะแนวโน้มที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามามากขึ้นในระยะต่อไปทั้งในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ จะทำให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น เพราะตลาดหุ้นไทยขณะนี้ ราคาหุ้นต่อกำไร หรือค่าอี/พี ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ให้ผลตอบแทนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค"

ทั้งนี้ ธปท.พบว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาแล้ว 3,553 ล้านบาท และตั้งแต่ต้นปี มีเงินไหลเข้ามาแล้ว 35,500 ล้านบาท ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีเม็ดเงินจำนวนไหลเข้ามาฟันส่วนต่างกำไร

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในช่วงนี้ยังมีเสถียรภาพ เชื่อว่ายังสามารถแข่งขันทางการค้าได้ โดยค่าเงินบาท สิ้นปี 2552 จนถึงปัจจุบัน แข็งค่าขึ้น 3.2% ขณะที่มาเลเซียแข็งค่าขึ้น 6.8% และสิงคโปร์ 2.3%และหากดูตัวเลขการขยายตัวของการส่งออกล่าสุดเดือนมิถุนายนที่ขยายตัวได้ถึง 46.3% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ส่งออกไทยสามารถปรับตัว และขยายการค้าได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อไปที่ค่าเงินบาทจะผันผวนมากขึ้น ผู้ส่งออกและนำเข้าควรทำประกันความเสี่ยงค่าเงินอย่างสม่ำเสมอ อย่าพยายามเก็งกำไรค่าเงินเพราะความเสี่ยงสูง ขณะเดียวกันการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของธปท.จะเข้าไปแทรกแซงค่าเงินเฉพาะช่วงที่มีความผันผวนสูงเท่านั้น ดังนั้น ผู้ส่งออกและนำเข้าจำเป็นต้องบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้เก่งขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงและความผันผวนมากขึ้นในระยะต่อไป


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์