วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

ตรวจสุขภาพการเงินหรือยัง

สุขภาพทางการเงิน

ที่ผ่านมาผมได้พยายามที่จะพาคุณๆที่ไม่ต้องการเป็นคนธรรมดา เดินผ่านเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงในปฏิบัติการเพื่อพลิกชีวิต เพื่อทำให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายในการมีอิสรภาพทางการเงิน สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในบั้นปลาย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินๆทองๆอีกต่อไป

เพราะมีความเชื่อว่าเหมือนที่ตัวเองเคยมีประสบการณ์ตรงมาแล้ว คือ คนส่วนใหญ่มักจะเริ่มสนใจเรื่องเงินๆทองๆก็ต่อเมื่อชีวิตเริ่มเกิดอาการสะดุด มีปัญหาติดๆขัดๆเรื่องเงิน โดยเฉพาะเรื่องหนี้สิน จึงค่อยเริ่มพยายามมองหาทางออกจากหุบเหวแห่งความทุกข์ ซึ่งสำหรับบางคนก็อาจจะเกือบสายเกินไป

ปฏิบัติการพลิกชีวิต จึงเริ่มต้นจากการชี้ให้คุณเห็นความสำคัญต่อ เรื่องเงินๆทองๆ และพยายามปลุกให้คนตื่นมี จิตวิญญาณ ของ“ผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้” และมุ่งมั่นกับพันธะสัญญาในการเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งสำคัญที่จะต้องยอมเผชิญกับความยากลำบากอย่างแสนสาหัสในช่วงแรกๆของการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเปลี่ยนแปลงที่ยากลำบากที่สุดจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น ที่คุณจะต้องกลับมาสร้างวินัยในการใช้จ่าย เข้าสู่ปฏิบัติการในการล้างหนด โดยเริ่มต้นจากหนี้ก้อนเล็กที่สุด เพื่อสร้างให้เกิด “โมเมนตัม” ของลูกบอลหิมะหรือ Snow Ball ค่อยๆจัดระบบเรื่องเงินๆทองๆในชีวิตเสียใหม่ จนสามารถจะมีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายหนี้สินต่างๆที่มีอยู่
เมื่อผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากมาได้แล้ว ก็จะเป็นช่วงของการสร้างเกราะป้องกันตัว โดยการสร้าง "กองทุนฉุกเฉิน” ขึ้นมา เพื่อเป็นหลักประกันรองรับ “อุบัติเหตุทางการเงิน” ที่อาจจะพุ่งเข้ามาใส่แบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว
หลังจากนั้น ผมเสนอให้เริ่มคุณทำตัวให้เป็นคนมีวิสัยทัศน์มองไปในระยะยาว โดยการตั้งเป้าหมายของการลงทุนใน “กองทุนเพื่อวัยชรา” ผ่านกลไกที่ภาครัฐสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ในเวลาเดียวกัน เพื่อสร้างกองทุนเพื่อวัยเกษียณให้เพิ่มพูนมากขึ้น ผมยังแนะนำให้รู้จักใช้ประโยชน์ “แต้มต่อ” ในการลงทุนใน การทำประกันชีวิต หรือ การซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMFRetirementMutual Fund และ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF Long-term Mutual Fund เพื่อใช้สิทธิ์ประโยชน์การช่วยลดหย่อนภาษี
ในระหว่างเส้นทางการเปลี่ยนแปลง ผมสนับสนุนให้เริ่มเก็บเงินออมและนำเงินไปลงทุนในการสร้าง “กองทุนเพื่อความมั่งคั่ง” โดยนำเม็ดเงินไปลงทุนในทางเลือกในการลงทุนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สินทรัพย์ทางการเงิน ประเภทตราสารหนี้ หรือ ตราสารทุน หรือ กองทุนรวมประเภทต่างๆ หรือสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือ ของสะสมที่มีมูลค่า โดยยึดหลักการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากจะรู้ว่า อะไรจะเป็นตัวตัดสินได้ว่า ณ ปัจจุบัน สุขภาพทางการเงินของเราดีขึ้นหรือยัง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายประจำปี
คงเหมือนคนทั่วๆไปนั่นแหละครับ ในช่วงที่ยังอยู่ในช่วงต้นๆของวัยทำงาน เรามักจะปล่อยชีวิตให้ลื่นไหลไปตามสภาพ ไม่เคยมีความคิดเรื่องการตรวจเช็คสุขภาพอยู่ในสมอง แต่เมื่อก้าวย่างเข้าสู่วัยกลางคน เราจึงเริ่มหันมาสนใจ
ล่าสุดผมใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาลอยู่กว่าครึ่งวันในการตรวจทุกอย่าง ทั้งตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะเอ็กซเรย์ปอด เป่าสี อัลตราซาวด์ช่องท้อง วิ่งสายพาน และ ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก
โชคดีที่สุขภาพโดยรวมของผมอยู่ในเกณฑ์ดีไม่มีปัญหาอะไรน่าหนักใจ ถึงแม้จะระดับน้ำตาลค่อนข้างสูง แต่ก็ยังไม่น่าวิตก แพทย์ลงความเห็นว่า ยังมีชีวิตต่อไปได้อีกนาน หากออกกำลังกายสม่ำเสมอเหมือนในปัจจุบัน แต่ต้องระวังเรื่องการรับประทานของหวาน เพราะเริ่มมี Triglyceride และ LDL สูง
สำหรับการตรวจสุขภาพทางการเงิน ผมมีวิธีเช็คอย่างง่ายๆ โดยดูจาก งบการเงิน หรือ งบที่แสดง“ความมั่งคั่งสุทธิ”โดยการนำเอาหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมด ไปหักออกจากทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมด ก็จะทำให้ทราบภาพรวมว่า คุณมีความมั่งคั่งสุทธิมากน้อยแค่ไหน
ขณะเดียวกัน เมื่อหันไปดู งบกระแสเงินสด ซึ่งเป็นตัวสะท้อน รายได้-รายจ่าย และ หนี้สินในแต่ละเดือน จะทำให้ทราบถึงสถานการณ์ทางการเงิน ณ ปัจจุบันและอนาคตของคุณได้ไม่ยาก เพราะหากผลสุทธิออกมาเป็นลบ ก็แสดงว่า คุณอาจจะต้องใช้เงินออมที่มีอยู่ หรือ กู้เงินมาชดเชยรายได้ส่วนที่ขาด ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือ ความมั่งคั่งของคุณลดลง
เพี่อให้สะดวก และ เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น มีอัตราส่วนทางการเงินมาตรฐาน 6 ประการที่อาจจะใช้เป็นตัวชี้วัดว่า สุขภาพทางการเงินของคุณเยี่ยมแค่ไหน คือ
1.อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน หรือ กองทุนฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ มีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคือ 3-6 เดือน ของค่าใช้จ่ายประจำเดือนหรือไม่
2.อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน หรือ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ มีอยู่มากพอที่จะจ่ายหนี้ระยะสั้นในแต่ละเดือนได้เพียงพอหรือไม่
3.อัตราหนี้สินรวมไม่ควรจะเกินกว่า ”ครึ่งหนึ่ง” ของ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ที่มีอยู่ ณ ขณะนั้นซึ่งยิ่งต่ำเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น
4.อัตราส่วนในการจ่ายหนี้สินในแต่ละเดือน ไม่ควรสูงกว่า 20% ของรายได้ ถึงแม้ว่า ในหลักการทั่วไป เราอาจจะสามารถมีหนี้สินจากการกู้ยืม เพื่อ ซื้อบ้าน หรือ รถยนต์ ได้ไม่เกิน 28-36% แต่ยิ่งมีหนี้น้อยเท่าไร ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งทางการเงินของเรา
5.อัตราส่วนในการออมเพื่อลงทุนสร้างความมั่งคั่งในแต่ละเดือน ควรเกินกว่า 10% ของรายได้ เพราะยิ่งนำเงินออมไปลงทุนได้มากเท่าไรก็ยิ่งช่วยสร้างความมั่งคั่งสุทธิให้เราเพิ่มมากขึ้น
6.อัตราส่วนในการลงทุนหรือสินทรัพย์การลงทุนของเรามีมากกว่าครึ่งของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของเราในปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวแสดงให้เห็นว่า มูลค่าความมั่งคั่งสุทธิของเรามีแต่จะเพิ่มพูนขึ้น เพราะสินทรัพย์การลงทุนของเราสามารถให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
อัตรส่วนทางการเงินส่วนบุคคลทั้ง 6 ประการ จะเป็น “ตัวชี้วัด” ที่ดีว่า สุขภาพทางการเงินของคุณเข้มแข็งและมั่นคงมากน้อยแค่ไหน หากคุณมีอย่างหนึ่งอย่างใดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ผมแนะนำไว้ ก็แสดงว่า คุณอาจจะเริ่มมีสุขภาพทางการเงินในบางเรื่องไม่สู้ดี และ ต้องเร่งแก้ไขชในจุดนั้นทันทีครับ
วิธีตรวสอบที่ผมนำมาแนะนำไว้ ต้องถือว่าเป็นการตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินของคุณด้วยตัวเอง หากคุณสามารถสอบผ่านทุกข้อก็แสดงว่า สุขภาพทางการเงินของคุณอยู่ในเกณฑ์เยี่ยมมากครับ และผมก็หวังให้เป็นเช่นนั้นทุกคนนะครับ

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์