วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

เป็นนักเก็งกำไรอย่างไรให้ดีที่สุด

ถ้าคุณเป็นคนช่างสังเกตก็คงพอจะทราบดีว่า ถึงแม้ผมจะสนับสนุนแนวคิดในเรื่องของการให้เงินทำงานผ่านทางเลือกในการลงทุนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะ “หุ้น” แต่ผมก็ไม่
ค่อยจะสนับสนุนแนวคิดในการลงทุนในลักษณะการเก็งกำไร
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะที่ผ่านมาผมไม่ค่อยจะพบคนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนในลักษณะดังกล่าวมากนัก ยกเว้นบรรดาขาใหญ่เงินหนา มากบารมีทางการเมือง แถมยังมีเครือข่ายยุบยับ ที่ประพฤติตัวเป็น “นักปั่นหุ้น” ที่อาศัยความโลภของคนอื่นในการทำเงิน ท้าทายกฏเกณฑ์ของทางการฯที่เปลี่ยนหน้า เปลี่ยนตัวกันมาโลดแล่นอยู่ในตลาดหุ้นฯทุกยุคทุกสมัย

ปัจจุบันถึงแม้บรรดา“นักเก็งกำไร” จะพยายามอาศัยวิธีการต่างๆในการวิเคราะห์หุ้น เช่นการวิเคราะห์หุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐาน และการวิเคราะห์ทางเทคนิค แต่หลายคนก็ยังสงสัยว่า หากวิธีการเหล่านี้ได้ผลดีจริงๆหรือ ทำไมนักเล่นหุ้นส่วนใหญ่จึงยังขาดทุน ทั้งๆที่บางครั้งตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ “กระทิง”เสียด้วยซ้ำไป

ในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นนั้น เราจะอาศัยข้อมูล และปัจจัยที่เป็นตัวแปรในด้านต่างๆซึ่งจะมีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทฯ โดยวิเคราะห์ถึงความต้องการสินค้า และปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อทำการประเมินและคาดคะเนไปถึงผลประกอบการของบริษัทฯที่เราเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นโดยนอกเหนือจากต้องการผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลแล้ว เรายังหวังถึงกำไรที่จะได้จ่ากส่วนต่างของราคา (Capital Gain) ที่จะได้รับ หากระดับราคาของหุ้นเพิ่มสูงขึ้น

แต่มันไม่ได้นำเอาพฤติกรรมของนักลงทุนมาวิเคราะห์รวมเข้าไปด้วย ต่อมาจึงเริ่มมีการหันมาใช้หลักการวิเคราะห์ทางเทคนิคขึ้น ซึ่งในระยะแรกๆที่มันถูกนำมาใช้ในช่วงทศวรรษปี 70 นั้น มันถูกวิจารณ์ว่าเป็น “ปาหี่”หลอกต้มนักลงทุนด้วยซ้ำไป

หลักการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้นเชื่อว่า “นักเก็งกำไร” คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในทุกๆตลาดและทุกๆช่วงเวลา และนักเก็งกำไรเหล่านี้มักจะทำสิ่งเดิมๆซ้ำไปซ้ำมา จนกลายเป็นพฤติกรรมตามหมู่ของฝูงชน ที่จะสังเกตเห็นได้จนเกิดเป็นสถิติที่น่าเชื่อถือขึ้นมา

บรรดานักวิเคราะห์ทางเทคนิค มักจะยืนยันว่าการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้น มีข้อได้เปรียบอยู่มากมาย เพราะมันคือการวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจุบัน และผลจากในอดีต ซึ่งจะทำให้สามารถคาดคะเนถึงความเป็นไปได้ในอนาคตได้มากขึ้น
เพราะอย่างนั้น คุณจึงมักจะได้เห็นหรือได้ยิน บรรดานักวิเคราะห์ทางเทคนิค ที่อาจจะเป็น“มาร์เก็ตติ้ง”ตามห้องค้า หรือ “นักวิเคราะห์” ในแวดวงโบรคเกอร์ที่มักจะให้คำแนะนำ เกี่ยวกับเรื่อง ของ “แนวรับ-แนวต้าน” “ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง” และ “กราฟ”สารพัดรูปแบบ เพื่อประกอบการคาดคะเนแนวโน้มของระดับราคาหุ้นในแต่ละวัน

แต่ผมคงต้องพูดตามตรงเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคว่า ถึงอย่างไรมันก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จในการช่วยให้คุณสามารถที่จะมีกำไรได้อย่างสม่ำเสมอครับ ต่อให้คุณเล่นตามตัวชี้วัด หรือ Indicator ต่างๆหรือ นั่งเพ่งมองหา “สัญญาณ” จากรูปแบบต่างๆในกราฟ ก็ไม่ต่างอะไรกับการ "ขูด”ขอ “หวย”ตามต้นไม้ประหลาดหรอกครับ

ถึงที่สุดแล้วมันก็ยังคงเป็นเพียงเครื่องมือวิเคราะห์ตัวหนึ่ง และนักเก็งกำไรมือสมัครเล่นส่วนใหญ่ก็ยังจะขาดทุนอยู่ดีครับ เพราะบ่อยครั้งที่บรรดามือสมัครเล่นเหล่านี้มักจะไม่ได้ลงมือกระทำในสิ่งที่ควรจะทำ ทั้งๆที่มีสัญญาณทางเทคนิคบอกเอาไว้

อะไรคือ*“กำแพง” ที่ขวางกั้น ระหว่างการวิเคราะห์ กับสิ่งที่บรรดมือสมัครเล่นปฏิบัติจริงๆMark J.Douglas เซียนหุ้นคนหนึ่งที่เขียนตำรา Trading in the Zone เรียกมันว่า “ช่องว่างทางจิตวิทยา”และช่องว่างนี้เองที่ทำให้ “การเก็งกำไร” เป็นสิ่งที่ยากยิ่งและต้องใช้ความพยายามอย่างมากมาย

การที่เราสามารถเห็นโอกาสบางอย่างขึ้นมาและทำในสิ่งต่างๆอย่างที่เราคิดนั้น ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ง่าย แต่นี่คือสิ่งที่แยกนักเก็งกำไรที่ล้มเหลวออกจากนักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เครื่องมือทางเทคนิคชิ้นใหม่ล่าสุด หรือความสามารถในการวิเคราะห์ที่ละเอียดกว่าเดิม

นักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องเรียนรู้ที่จะคิดและสร้างทัศนคติในทางที่ต่างออกไปซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถตอบสนองต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดีพวกเขาได้เข้าถึงความเชื่อบางอย่าง ซึ่งช่วยให้สามารถรักษาวินัยและสมาธิเอาไว้ได้ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ ความเชื่อมั่นในตนเอง แม้ในช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดครับ

นักเก็งกำไรชั้นยอดนั้น ต้องสามารถซื้อ-ขายได้โดยไร้ความลังเลใจ แม้ในช่วงเวลาที่ขาดทุน พวกเขาทำสิ่งต่างๆได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยยอมรับถึงการขาดทุนที่เกิดขึ้นครับ
การเก็งกำไรได้ดีนั้น คือการที่คุณสามารถเช้าซื้อขาย ได้ตามกฎหรือระบบของคุณ ซึ่งไม่เกี่ยวกับว่าคุณจะได้กำไรหรือขาดทุน และนี่คือสิ่งที่นักเก็งกำไรชั้นยอดทำครับ

Mark J.Douglas พูดเอาไว้ว่า นักเก็งกำไรที่ดี ต้องสามารถตัดขาดทุนได้ โดยไร้ความลังเลใจโดยไม่เกิดความรู้สึกไม่สบายใจขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม และนี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างที่ทำให้สามารถในการที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า

หากว่าคุณขายมันทิ้งไปแล้ว หรือวันนี้จบลงแล้ว คุณต้องก้าวต่อไป คุณต้องเตรียมตัวสำหรับวันใหม่ และโอกาสใหม่ๆ แต่หากว่าคุณยังถูกครอบงำจากการเก็งกำไรครั้งที่เพิ่งคุณขาดทุนมา คุณจะถูกครอบงำโดยอารมณ์ และคุณจะไม่สามารถตั้งสมาธิไปยังโอกาสครั้งใหม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น เหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้นักเก็งกำไรมือสมัครเล่นส่วนใหญ่มักจะถือหุ้นที่ขาดทุนอยู่ก็เพราะ พวกเขายังคงรู้สึกเจ็บปวดจากการขาดทุนที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น และไม่ยอมรับถึงความเสี่ยงจากการลงทุนได้นั่นเอง

พวกเขาควรรู้สึกอย่างซาบซึ้งว่า เมื่อคุณเข้าซื้อหุ้น คุณอาจคิดผิดก็ได้ และมันยังจะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป และเมื่อพวกเขาสามารถยอมรับความจริงว่าไม่สามารถวิเคราะห์ได้ถูกต้องทุกครั้ง หรือ กราฟอาจจะไม่เป็นจริงก็ได้ การเก็งกำไรจึงอาจผิดพลาดได้

แต่หากพวกเขาไม่สามารถยอมรับความจริงว่ามันอาจไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ เมื่อไรที่มันวิ่งสวนทางกับสิ่งที่วิเคราะห์ผิดไป แต่ก็ยังไม่ยอมรับ ยังคงถือขาดทุนอยู่ต่อไป ในที่สุดมันก็จะทำให้เริ่ม “ตาบอด” จนมองไม่เห็นสิ่งต่างๆเลยกว่า 95% ของความผิดพลาดต่างๆที่เกิดขึ้นในการเก็งกำไร ที่ทำให้เงินของคุณหายไปกับตานั้นเกิดมาจากทัศนคติของคุณเองเกี่ยวกับเรื่อง

“ความกลัวในการเก็งกำไร 4 ประเภท” นั่นก็คือ ความกลัวที่จะผิดพลาด ความกลัวที่จะขาดทุน กลัวที่จะพลาดโอกาส และกลัวที่กำไรจะหายไปนั่นเอง
ตราบใดที่คุณยังหวั่นไหวจากความกลัวเหล่านี้คุณจะไม่สามารถเชื่อมั่นในตนเองได ้ หรือแม้กระทั่งกระทำสิ่งที่คุณคิดได้ละก็ ความสำเร็จอย่างสม่ำเสมอในการเก็งกำไรจะไม่มีวันเป็นไปได้สำหรับคุณครับ

มาถึงตรงนี้คงได้คำตอบนะครับ ชีวิต มีทางที่ต้องเลือกเดินครับ เพราะหากจะหวังเอาดีทั้งสองทาง มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับบนโลกแห่งการลงทุน ลองถามใจตัวเองให้ดีว่า คุณจะเลือกที่จะเป็นนักลงทุนระยะยาว หรือต้องการจะเป็น “นักเก็งกำไร” แต่ที่สำคัญแน่ใจหรือครับว่า ขนาดของ”หัวใจ”ของคุณนั้นแกร่งพอ!!!

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงพอจะเข้าใจถึงเหตุผลที่ผมไม่ค่อยสนับสนุนให้คุณเปลี่ยนแปลงตัวเองไปจนถึงขั้นพยายามยกระดับขึ้นเป็น นักลงทุนประเภทเก็งกำไรใน “หุ้น”สักเท่าไร เพราะผมไม่อยากให้คุณกลายเป็นคนที่ไม่ธรรมดาในแบบสุดขั้วที่ยึดเอา“เงิน”เป็นตัวตั้งในชีวิตมากจนแทบไม่เหลือความสุขที่แท้จริงในชีวิตอีกต่อไป

ตอนนี้คุณได้เรียนรู้และเข้าใจแล้วว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่าง ระหว่าง “นักเก็งกำไรมืออาชีพ” กับ “นักเก็งกำไรมือสมัครเล่น”

นักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จนั้น จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ขนาดของ “หัวใจ” ที่พร้อมจะเข้าทำการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดฯโดยปราศจากความกลัว สามารถที่จะปล่อยวาง และเชิดหน้าก้าวเดินต่อไปเพื่อหาโอกาสใหม่ๆในตลาดฯอยู่เสมอ ไม่ยึดติดกับความเจ็บปวดจากการขาดทุน หรือมัวแต่ “ฟูมฟาย”ผิดหวังกับสิ่งที่ได้ทำพลาดไปแล้ว

หากคุณมั่นใจในขนาดของ “หัวใจ” ของคุณ หรือเชื่อว่า “แกร่ง” พอ ลองเขยิบไปดูกันอีกสักนิดก็ได้ว่า อะไรคือขั้นตอน หรือวิธีการที่สำคัญในการเป็นนักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ผมจะไม่ค่อยสนับสนุนเรื่องนี้สักเท่าไรก็ตาม แต่เพื่อพัฒนาความเชื่อและทัศนคติที่ถูกต้องในการเล่นหุ้นของคุณ

ในหนังสือ Trading in The Zone ของ Marc J. Douglas (ตัวเอียง) ได้วางแนวทางฝึกหัด หรือ Guide Line (ตัวเอียง) สำหรับการยกระดับขึ้นมาเป็นนักเก็งกำไรเอาไว้ ในตอน Trading an Edge like Casino (ตัวเอียง) หรือ “เก็งกำไรอย่างไรให้มีแต้มต่อ"

การเก็งกำไรที่มีความได้เปรียบนั้น คือการที่คุณสามารถที่จะมองเห็นโอกาสจากการที่ตลาดฯได้เผยออกมาในทุกๆวัน และนี่คือสิ่งที่เขาเรียกมันว่า Edge หรือการมองเห็นโอกาส สำหรับการซื้อ-ขายครั้งใหม่ๆ

แนวทางดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในการฝึกฝนจิตใจของคุณ เพื่อเรียนรู้การตอบสนองที่ถูกต้องจากสิ่งที่ตลาดฯเผยออกมา และยิ่งกว่านั้นคือการเรียนรู้ที่จะเป็น“นักเก็งกำไรที่มีวินัย”ที่สามารถทำตามกฎได้อย่างเคร่งครัด จนทำให้“คุณคือระบบ และระบบกลายเป็นตัวคุณ!”

เริ่มต้นจากการลองเลือกหุ้นมาสักตัวหนึ่ง โดยควรเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องเป็นอย่างดี และควรมีความผันผวนสูงสักหน่อย โดยอาจจะเริ่มจากหุ้นประเภท “บลูชิพ”บางตัวก็ได้หลังจากที่เราเลือกหุ้นที่เราจะทดลองฝึกดูได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกแนวทางที่เราจะซื้อขายกับมัน เพื่อให้คุณมีระบบการลงทุนของคุณเอง

มันอาจะเป็นการวิเคราะห์พื้นฐานหรือการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ได้เพราะการฝึกนี้ไม่เกี่ยวกับว่าระบบหรือวิธีการของคุณ ไม่เกี่ยวกับว่าเมื่อคุณเห็นกราฟ แล้วคุณจะคิดอย่างไร และมันไม่เกี่ยวกับว่าคุณจะได้กำไรหรือไม่ แต่มันเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า “คุณจะสามารถทำตามระบบของคุณได้ไหม” โดยไม่ต้องสนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

ไม่ว่าระบบของคุณจะเป็นอย่างไรนั้น มันก็ควรจะมีองค์ประกอบ คือ มันต้องสามารถส่ง“สัญญาณ” บอกจุดเข้าซื้อให้คุณได้ ทำให้คุณรู้ว่าตรงไหนที่ควรตัดขาดทุน มีระยะเวลาหรือTime Frame ที่ชัดเจน โดยควรทดลองซื้อ-ขายเป็นจำนวนหลายๆครั้ง และมีวิธีการวัดผลที่แน่นอน และมีการจัดการความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย

โดยเมื่อพูดถึงการเข้าซื้อนั้น ตัวแปรที่ใช้ในการบ่งชี้ถึงโอกาสของคุณ ควรจะมีกฏที่ชัดเจนและแน่นอนว่า ทุกๆครั้งที่หุ้น X หล่นลงมาชนกับเส้นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง Moving Average-MA 20 วัน (ตัวเอียง)ในขณะที่ตลาดเป็นขาขึ้น จะเป็นจังหวะของการซื้อ หรือทุกครั้งที่เส้น Moving Average Convergence-Divergence- MACD (ตัวเอียง)หรือเมื่อเส้นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 2 เส้นตัดขึ้นจะเข้าซื้อ

พูดง่ายๆว่า หากเมื่อไรสภาพตลาดฯเข้าทางกับกฎการซื้อของคุณ จึงจะเป็นจุดซื้อของคุณ หากไม่ก็ไม่ควรซื้อ จะซื้อก็ต่อเมื่อมันตรงกับกฎหรือระบบของคุณเท่านั้น!
ในทางกลับกัน “การตัดขาดทุน” ก็เหมือนกับการซื้อหุ้นเช่นกัน ทุกคนควรจะมีกฎที่แน่นอนในการขายด้วย ไม่ว่าจะเป็นเมื่อมันหลุดเส้น MA 20 วัน หรือหลุดเส้น MA 50 วัน หรืออะไรก็ตาม ต้องมีกฏที่แน่นอนสำหรับการขาดทุนเช่นเดียวกับการซื้อครับ เพราะนั่นจะมีผลอย่างมากมายต่อผลกำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหุ้นนั้นไม่วิ่งไปอย่างที่คิดระบบของคุณยังต้องสามารถบอกได้ว่า ควรจะยอมเสี่ยงแค่ไหนหากว่าทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่คิด พูดง่ายๆว่าหากทำตามระบบ มันจะต้องบอกได้ว่าจะต้องทำอย่างไร รอนานแค่ไหน หรือจะยอมเสี่ยงมากเท่าไร และในเวลาเดียวกัน มันจะต้องมีจุดๆหนึ่งที่คุณจะไม่สามารถ ทำกำไรเพิ่มได้อีกแล้ว และควรที่จะขายออกมา ดีกว่าหวังให้มันวิ่งกลับมาที่เดิมครับ

เรื่องของกรอบเวลา มันจะอยู่บนระยะเวลานานแค่ไหนก็ได ้ แต่ส่วนใหญ่จะยึดโยงกับ กราฟ ราย5 นาที 30 นาที หรือกราฟรายวัน และที่สำคัญ กฎการเข้าซื้อและขายของคุณต้องใช้กรอบเวลาเดียวกันเช่นหากใช้กราฟราย 15 นาที ในการเข้าซื้อระหว่างวัน ก็ต้องใช้กราฟราย 15 นาทีในการขายด้วย

ในเบื้องต้น Marc ให้คำแนะนำไว้ว่า การเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด หรือมีความน่าจะเป็นที่จะได้กำไรมากที่สุด คือ “การซื้อเมื่อหุ้นซื้อหุ้นพักตัว” ในแนวโน้มขาขึ้น หรือ “การขายชอร์ทเมื่อหุ้นเด้งขึ้น”ขณะที่มันยังอยู่ในขาลงจุดสำคัญที่ทำให้นักเก็งกำไรส่วนใหญ่ล้มเหลวก็เพราะ บ่อยครั้งทั้งๆที่มีกำไร แต่ก็จะทนไม่ไหวรีบขายออกมา ทำให้ได้กำไรน้อยกว่าที่ควรจะเป็นทั้งๆที่กำลังเดินมาถูกทาง ปัญหาในเรื่องนี้ก็เพราะตามธรรมชาติ ตลาดฯไม่เคยวิ่งขึ้นเป็นเส้นตรง มันจะขึ้นๆลงๆ หรือย่อตัวเสมอ

เพื่อก้าวไปอีกขั้น และวัดผลของระบบที่เรากำหนดขึ้นมาเอง ควรลองแบ่งเงินทุนออกเป็นส่วนๆโดยไม่วางเงินทั้งหมดลงไปในหุ้นแค่หนึ่งหรือสองตัวครับ ควรจะกระจายเงินลงไปในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เพื่อประกันความเสี่ยงในกรณีหุ้นบางตัวร่วงลงไป เงินทั้งหมดของคุณจะไม่หายไป

นักเก็งกำไรทั่วไปนั้น มักเอาชีวิตไปแขวนไว้กับผลการซื้อขายครั้งที่พึ่งจะผ่านๆมา หากมันทำกำไรได้ เขาจะกลับไปใช้มัน แต่หากมันไม่มีกำไร เขาก็จะเลิกใช้มัน ดังนั้นคุณควรจะทดสอบระบบของคุณโดยการทดลองซื้อขายในกระดาษก่อน เพื่อสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า อะไรคือเหตุผลในการตัดสินใจ จนคุณสามารถพูดได้ว่า นี่คือ“กฎของผม”
ที่สำคัญอีกอย่างคือ การกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือตัดขาดทุนในระหว่างการถือหุ้นเพื่อความสบายใจ ซึ่งมันแตกต่างๆโดยสิ้นเชิงกับการรับรู้ถึงความเสี่ยง

การฝึกแบบนี้ จะทำให้คุณกลายเป็นระบบ ทำตามระบบ และระบบจะฝึกคุณเอง พยายามทำตามระบบอย่างน้อย 20 ครั้ง ตามกฎของคุณ ไม่ใช่เพียงแค่การซื้อขายครั้งต่อไป แต่อีก 20 ครั้งต่อไป และห้ามละเมิดกฎเด็ดขาด

บทเรียนจากการทดลอง จะทำให้คุณได้ตระหนักว่า ทุกอย่างมันจะใช้การไม่ได้ ถ้าคุณไม่ทำตามระบบ แต่หากคุณสามารถปฏิบัติตามกฏเหล่านี้ได้ คุณก็จะอยู่ในข่ายที่จะเหมือนขึ้นสววรค์ เพราะมันจะทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างที่ต้องการ มองเห็นโอกาสในการทำกำไรได้ตลอดเวลา โดยไม่รู้สึกว่าระบบหรือตลาดฯนั้นจะคอยเล่นงานคุณอยู่เสมอ

นี่คือขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาความเชื่อและทัศนคติที่ถูกต้องของคุณ และนี่คือสิ่งที่ MarcJ.Douglas เขียนเอาไว้ในหนังสือ Trading in the Zone บางคนมาถึงตรงนี้ อาจจะประหลาดใจว่า ทำไมไม่เห็นมีใครเคยบอกเรื่องเหล่านี้มาก่อน คำตอบง่ายๆก็คือ เพราะมันเป็นเรื่องยากพอสมควร ดังนั้นหากคุณยังอยากเดินไปต่อในเส้นทางนี้ ผมแนะนำให้ลองไปซื้อหนังสือเล่มข้างบนมาอ่านแบบเจาะลึกกันเอาเองดีกว่าครับ


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์
7 กันยายน 2553