วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สุดยอดตำราพิชัยยุทธ์ ในการเล่นหุ้น

สุดยอดตำราพิชัยยุทธ์ ในการเล่นหุ้น
ตำราพิชัยยุทธ์ เล่มที่ 1

บัญญัติ 10 ประการ....
สำหรับการเล่นหุ้น....ให้ท่านทั้งหลายที่เข้ามาในกระทู้นี้ได้นำไปพิจารณา....เชื่อมโยงกับกลยุทธของท่าน....เพื่อการตัดสินใจต่อการลงทุนต่อไปก็แล้วกันนะ....

1. เน้นการลงทุนให้เป็นไปตามแนวโน้มของตลาดรวม....อ่อนให้สงบ...แข็งให้สู้...ทรุดให้หนี...ดีให้เข้า

2. เล่นหุ้นให้มีกฏมีเกรณ....ต้องวิเคราะห์ได้....วิจัยเป็น...อ่านให้ขาดหุ้นตัวไหนเลว ตัวไหนดี.....สามารถประเมินมูลค่าราคาหุ้นได้

3. รู้จักการคาดการณ์ พฤติกรรมการเล่นหุ้นของมือใหญ่ ....หรือพวกที่เป็นผู้นำตลาด.....และพยายามมองอ่านเกมลึกไปถึงพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของหุ้นเป้าหมาย...หรือหุ้นที่นำตลาด...เพื่อมองภาพการเคลื่อนไหวที่จะเชื่อมโยงไปถึงภาพรวมใหญ่ของตลาดได้

4. ควรจดจำไว้เสมอว่า....การเล่นหุ้นนั้นมีความเสี่ยง....ทุกย่างก้าวในการเล่นหุ้นจึงต้องใช้ความระมัดระวังให้มากๆ....และควรคิดเสมอว่า....การเล่นหุ้นนั้นคือ...เกม..

5. เมื่อเวลาซื้อหุ้นให้ประเมินว่ามีโอกาสจะทำกำไรได้หรือไม่....ถ้าคลุมเคลือ ไม่ชัดเจน ไม่มีความมั่นใจ อย่าได้ซื้อหุ้นเด็ดขาด....เพราะการซื้อหุ้นนั้นท่านต้องมองเห็นอนาตคให้ได้....ในเวลาเดียวกันการขายหุ้นก็ต้องเน้นขายเพราะท่านต้องมีจุดประสงค์....กล่าวคือเพื่อเปลี่ยนตัวหุ้นที่ดีกว่า...เพราะเห็นว่าหุ้นของท่านเริ่มอืดอาดแล้ว...หรือมองแนวโน้มตลาดโดยรวมแย่

6. รู้จักการปรับพอร์ตให้เป็น.....อย่านิ่งเฉย...ปล่อยให้ความสูญเสียก้าวมาถึง จนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้....ท่านต้องเป็นผู้ที่เล่นหุ้นได้ทั้งขาขึ้น และ ขาลง ปรับพอร์ตคงเงินสด ลดใบหุ้น หรือเพื่อหุ้น ลดเงินสด ตามจังหวะและโอกาสในช่วงนั้นๆ

7. ไม่เป็นผู้ที่ขาดสติ...เป็นคนใจร้อน....ขาดเหตุผล...และหวังคิดชนะตลาดอยู่ร่ำไป....ซึ่งจะทำให้ท่านมีมุมมองที่ผิดเพี้ยน ....เช่นหุ้นยิ่งลงท่านยิ่งซื้อ
ที่สุดก็ติดหุ้นอย่างแน่นอน....และบางครั้งการขาดสติ อาจทำให้ท่านเล่นหุ้นผิดจังหวะ เสียรอบ ที่ควรได้กับไม่ได้ ที่ไม่ควรเสียกับเสีย

8. เล่นหุ้นต้องรู้จักพึ่งตนเองเป็นสำคัญ....อย่าหูเบา...เชื่อคนง่าย...เพราะเรื่องของหุ้นมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์...เป็นเรื่องของภาพลวงตา....ดังนั้นตัวของเราคือต้องเป็นที่พึ่งของเราเองอย่างแท้จริง

9. เสริมสร้างความรู้ในเรื่องหุ้นให้ต่อเนื่อง....รู้จักอ่าน...รู้จักฟัง...รู้จักพิจารณา.....ศึกษาให้ชัดเจน...ควรติดตามเรื่องราว...การเมือง...เศรษฐกิจ....สังคม...ทั้งภายในภายนอกประเทศ....ศึกษาความเป็นมาเป็นไปของตัวหุ้นให้ละเอียด

10. เมื่อประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นแล้ว....ให้รู้จักเก็บออม...รู้จักบริหารเงิน....รู้จักการลงทุนที่ถาวรทำธุรกิจส่วนตัว....และอย่าลืมบริจาคทำบุญทำทานกันบ้างก็แล้วกันนะ....เพราะเงินที่ได้จากตลาดหุ้นนั้น...ควรคิดเสมอว่าส่วนหนึ่ง...ท่านจะได้จากผู้ที่สูญเสียในตลาดนั้นแหล่ะครับ......

ตำราพิชัยยุทธ์ เล่มที่ 2
กลยุทธพิชิตหุ้น 10 อย่า 10 ควร 20 ต้อง..........

10อย่า
1. อย่าเล่นหุ้นด้วยอาการงงกับตลาดและงงตัวเอง
2. อย่าแห่ตามจนไร้สติ
3. อย่ามั่นใจกับภาวะตลาดจนเกินไป
4. อย่าตั้งเป้าทำกำไรไว้ตายตัว
5. อย่าเชื่อข่าวอินไซด์มากระวังจะถูกหลอก
6. อย่าเล่นหุ้นมากตัว
7. อย่าเล่นหุ้นเกินกำลังตัวเอง
8. อย่าหูเบาเชื่ออะไรง่าย
9. อย่าประมาทกับตลาดหุ้นเด็ดขาด
10. อย่าเป็นผู้ที่ติดหุ้นในราคาสูง

10 ควร
1. ควรคาดหวังแต่ต้นเริ่มซื้อหุ้นว่าซื้อแล้วต้องไม่ขาดทุน
2. ควรรู้เขารู้เราอ่านกันให้ออก โดยเฉพาะแนวโน้มตลาด
3. ควรเล่นหุ้นที่มีพื้นฐานรองรับ หรือเป็นหุ้นติดตลาด
4. ควรติดตามค้นหาข้อมูล ทำการบ้าน
5. ควรเล่นหุ้นอย่างมีหลัก มีกติกา ไม่ใช้อารมณ์ตัดสิน
6. ควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรองรับสิ่งที่เลวร้ายซะก่อน
7. ควรหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีปัญหา
8. ควรบอกตัวเองเสมอว่าราคาหุ้นนั้นคือภาพลวงตา
9. ควรแยกแยะให้ออกหุ้นไหนเก็งกำไร หุ้นไหน ลงทุน
10. ควรซื้อหุ้นเพราะมองเห็นอนาคต

20 ต้อง
1. ต้องติดตามกระแสปัจจัยเกี่ยวพันตลาดฯ
2. ต้องศึกษาตัวหุ้นก่อนเข้าซื้อ หรือขาย
3. ต้องอ่านแรงซื้อแรงขายหุ้นที่เล่นด้วยให้ออก
4. ต้องรู้จักตัดขายแต่ต้นทาง
5. ต้องรู้จักอดทนรอคอย ในแต่จังหวะ ในแต่ละรอบ
6. ต้องรู้จักประเมินความเสี่ยง
7. ต้องปรับพอร์ตลดเพิ่มให้เป็น
8. ต้องรู้จักทิศทางแนวโน้มขาขึ้นขาลงของตลาดให้ได้
9. ต้องอ่านทางนักลงทุนรายใหญ่ พวกสถาบันให้ออก
10. ต้องรู้จักลักษณะเฉพาะตัวของหุ้นที่จะเล่นให้ได้
11. ต้องเล่นให้เป็นทั้งสั้นและยาว
12. ต้องรู้จักเล่นเก็งกำไรผสมผสานกับการลงทุน
13. ต้องไม่แก้ปัญหาจนกลายเป็นแย่
14. ต้องระวังอย่าเล่นผิดจังหวะ
15. ต้องไม่วาดฝันสวยหรูจนเกินไปโดยความจริงยังไม่เกิด
16. ต้องรู้จักพึ่งตนเองเป็นสำคัญ
17. ต้องไม่ซื้อถั่วเฉลี่ยหุ้นขาลงโดยเด็ดขาด
18. ต้องซื้อถั่วเฉลียขึ้น หรือแนวโน้มในระยะต่อไปดูดี
19. ต้องไม่รักหุ้นเป็นเด็ดขาด
20. ต้องรู้จักเก็บกำไรบ้างเผื่อไว้ขาดทุนภายหน้า
ที่มา :
blogging ของคุณเย่หยงเทียน

6 ขั้นตอนการลงทุน คู่มือสำหรับผู้ลงทุนภายในประเทศ

6 ขั้นตอนการลงทุน คู่มือสำหรับผู้ลงทุนภายในประเทศ

ขั้นที่ 1 ทำความรู้จักกับสินค้า
ถ้าคุณเข้าใจว่าสินค้าแต่ละตัวคืออะไรแล้ว คุณก็จะสามารถ เลือกประเภทของสินค้าที่จะลงทุนตามความสนใจของคุณ ได้ง่ายขึ้น เรามีสินค้าหลากหลายให้คุณเลือกลงทุนได้ โดยหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนและมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มี 7 ประเภทด้วยกันคือ :
หุ้นสามัญ (ordinary shares)
หุ้นบุริมสิทธิ (preferred shares)
หุ้นกู้ (debentures)
หุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible debentures)
หน่วยลงทุน (unit trusts)
ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ (warrants)
ตราสารอนุพันธ์ (derivative warrants)

ขั้นที่ 2 รู้จักตัวเอง และเลือกบริษัทนายหน้าที่เหมาะสำหรับคุณ
ถามคำถามต่อไปนี้กับตัวคุณเอง ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าพร้อมหรือยังที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ :
จุดประสงค์ของการลงทุนในหลักทรัพย์ของคุณคืออะไร ?
คุณพร้อมจะรับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่คุณซื้อไว้แล้วหรือไม่ ?
คุณมีงบประมาณในการลงทุนเท่าไร ?
คุณต้องการลงทุนแบบใด ซื้อหุ้นเอง (single share) หรือลงทุนในกองทุนรวม (investment fund) ?
คุณจะเสี่ยงได้แค่ไหน ?

เมื่อคุณรู้จักความต้องการของตัวเองมากขึ้นแล้ว คุณควรตั้งคำถามต่อไปนี้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่คุณสนใจ เพื่อช่วยในการเลือกบริษัทที่จะทำหน้าที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการ ของคุณมากที่สุด
คุณต้องใช้เงินเท่าไรสำหรับการเปิดบัญชี ?
บริษัทให้บริการอะไรแก่คุณบ้าง ?
บริษัทคิดค่าธรรมเนียมเท่าไร ?
บริษัทมีแผนกวิจัยของตัวเองหรือไม่ ?
คุณจะได้รับข้อมูลวิจัย และข้อมูลอื่นของบริษัทเป็นประจำหรือไม่ ?
บริษัทจะส่งข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของตลาดให้คุณอย่างไร และบ่อยแค่ไหน ?

ขั้นที่ 3 การสั่งซื้อขายหลักทรัพย์
ถ้าคุณคิดว่า ตลาดหลักทรัพย์เป็นศูนย์กลางของการซื้อขายหลักทรัพย์ ความเข้าใจของคุณถูกต้อง แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณสามารถส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นให้กับตลาดหลักทรัพย์โดยตรง ความเข้าใจของคุณยังคลาดเคลื่อน เพราะว่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะต้องทำผ่านบริษัทสมาชิก (โบรกเกอร์) หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่มิใช่สมาชิก (ซับโบรกเกอร์) เท่านั้น

คำตอบของบริษัทหลักทรัพย์ต่อคำถามต่างๆในขั้นตอนที่ 2 จะเป็นข้อมูลให้คุณเลือกบริษัทหลักทรัพย์ที่คุณพอใจได้ หากคุณยังไม่ทราบดีถึงความแตกต่างระหว่างโบรกเกอร์และซับโบรกเกอร์ เราขอให้คำจำกัดความดังนี้ :

ในนิยามที่ใช้กันทั่วไปในธุรกิจหลักทรัพย์ไทย โบรกเกอร์คือบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย ส่วนซับโบรกเกอร์ ก็เป็นบริษัทหลักทรัพย์เช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ โดยโบรกเกอร์จะมีสิทธิส่งคำสั่งซื้อขายเข้าสู่ระบบซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ได้โดยตรงในขณะที่ซับโบรกเกอร์จะไม่สามารถติดต่อโดยตรงกับระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่จะต้องส่งคำสั่งซื้อหรือขาย ของคุณไปที่โบรกเกอร์ เพื่อให้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ให้อีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คุณสามารถเปิดบัญชีกับ บริษัทหลักทรัพย์ใดก็ได้ ถึงแม้ว่าบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวจะไม่ได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม
เมื่อคุณเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์แล้ว บริษัทจะต้องทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อย่าลืมสอบถามข้อมูลการวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่คุณสนใจ รวมทั้งข้อมูลอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ขั้นที่ 4 ทำความเข้าใจกับค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์
คุณจะต้องเสียค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่คุณซื้อหรือขายหลักทรัพย์ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมให้บริษัทนายหน้า หรือ โบรกเกอร์ ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่ซื้อหรือขาย (T+3 )นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผลและภาษีดอกเบี้ย เป็นต้น

ขั้นที่ 5 ศึกษาและติดตามข้อมูลก่อนและหลังการซื้อขายหลักทรัพย์
คุณควรจะศึกษาและติดตามข้อมูลทั้งก่อนและหลังการซื้อขาย โดยคุณสามารถใช้บริการข้อมูลต่าง ๆ ของ ตลาดหลักทรัพย์และของบริษัทนายหน้าของคุณซึ่งมีอยู่หลากหลายประเภท ทั้งที่ให้บริการฟรี และ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ขั้นที่ 6 รู้จักจังหวะเวลาในการตัดสินใจลงทุน
ก่อนตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ คุณควรขอคำปรึกษาจากแหล่งต่าง ๆ ก่อน เช่น จากโบรกเกอร์ของคุณ จากเพื่อน ๆ รวมทั้งหาข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์และแหล่งอื่น ๆ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น อย่าลืมว่า คุณจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเองในที่สุด ! อย่าลืมว่า การลงทุนใด ๆ ย่อมมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น แต่การวางแผนที่รอบคอบ
ช่วยให้ความเสี่ยงลดน้อยลงได้

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว คุณก็ได้ทำความเข้าใจครบ 6 ขั้นตอนสำหรับผู้ลงทุนหน้าใหม่แล้ว เราหวังว่าคู่มือนี้จะช่วยให้ คุณมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ดีขึ้น

http://www.set.or.th/th/education/invest/guide_p1.html

ดัชนีราคาหุ้นคืออะไร

ดัชนีราคาหุ้นคืออะไร

ดัชนีราคาหุ้น (เป็นชื่อเรียกเต็มที่เป็นทางการค่ะ แต่ต่อไปนี้จะขอเรียกสั้นๆว่า ดัชนี) เป็นตัวเลขที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำขึ้นเพื่อแสดงถึงความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญ (หุ้นทุน) ที่ทำการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ดัชนีที่แสดงในแต่ละวันนั้นเป็นดัชนีเปรียบเทียบระหว่าง มูลค่าตลาดรวมในวันปัจจุบัน ของหุ้นสามัญทั้งหมด กับ มูลค่าตลาดรวมในวันฐาน ของหุ้นเหล่านั้น (วันฐานคือวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มเปิดให้มีการซื้อขาย โดยใชัตัวเลขของฐานคือ 100 จุด)

เมื่อทราบถึงความหมายแล้วก็จะทำให้เข้าใจวิธีการคำนวณได้ง่ายขึ้น ต่อไปก็จะขอแสดงให้ดูสูตรที่ใช้ในการคำนวณดังนี้

ดัชนีราคาหุ้น = (มูลค่าตลาดรวมในวันปัจจุบัน x 1००) /มูลค่าตลาดรวมวันฐาน

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาหุ้นมีดังนี้
1. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้มูลค่าของหุ้นสามัญเท่านั้นที่นำเอามาคำนวณ แต่ไม่นำเอามูลค่าของหุ้นบุริมสิทธิ(Preferred Share) หรือใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) เข้ามาเป็นส่วนประกอบในการคำนวณ

2. เนื่องจากขนาดของบริษัทจดทะเบียนแต่ละบริษัทไม่เท่ากัน คือบางบริษัทจะมีจำนวนหุ้นมากกว่าบริษัทอื่นๆ ดังนั้นการคำนวณดัชนีราคาหุ้นในปัจจุบันจึงใช้วิธีถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาด (Value Weighted) นั่นคือบริษัทที่มีขนาดใหญ่ (มีจำนวนหุ้นมาก) จะมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีมากกว่าบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่า (มีจำนวนหุ้นน้อยกว่า)

3. มีการเปลี่ยนแปลงของหุ้นในตลาดอยู่เสมอ เช่น มีหลักทรัพย์เข้ามาจดทะเบียนใหม่ มีหุ้นที่เพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน บริษัทจดทะเบียนมีการเพิ่มทุนหรือลดทุน การรวมหรือควบกิจการ มีหลักทรัพย์ใดๆจะย้ายจากตลาดหลักทรัพย์ใหม่เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อดัชนีหุ้น คือ ทำให้เกิดการผันผวนผิดปกติของค่าดัชนี และไม่สะท้อนภาพการเคลื่อนไหวของตลาดโดยรวมได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในระดับราคาหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี

ดังนั้นจึงต้องมีการปรับฐานการคำนวณทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งสูตรการคำนวณมีความสลับซับซ้อน หากว่าคุณหรือผู้อ่านท่านใดสนใจใคร่รู้ในรายละเอียดจริงๆ สามารถดูสูตรการคำนวณของตลาดหลักทรัพย์ได้ใน website ของตลาดหลักทรัพย์ www.set.or.th

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีดัชนีอีกตัวหนึ่งเรียกชื่อว่า SET 50 Index ซึ่งเขาจะคำนวณและประกาศให้ประชาชนทราบทุกวันควบคู่กันไปกับตัวดัชนีราคาหุ้น(โดยรวม)ที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับ SET 50 Index นี้จะแสดงถึงความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจำนวนเพียง 50 หุ้นที่ผ่านการคัดเลือกโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ

หลักเกณฑ์การเลือกหลักทรัพย์ เพื่อให้ได้หุ้นจำนวน 50 หุ้นที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการนำมาคำนวณดัชนี SET 50 Index มีหลักเกณฑ์โดยย่อดังนี้

ก. เป็นหุ้นสามัญที่มีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดเฉลี่ยต่อวันสูงสุด 150 (ตัวเลข 150 นี้ถูกต้องแล้ว หากสงสัยว่าทำไมถึงต้องใช้ 150 หุ้น ก็กรุณาอ่านต่อไปนะคะ) อันดับแรกจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด (400 กว่าหุ้นค่ะ) โดยคำนวนจากมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดเฉลี่ยรายวันที่ปรากฎบนกระดานหลักในแต่ละเดือน
และคำนวณเฉลี่ยย้อนหลัง 12 เดือน นับจากวันที่ทำการพิจารณาคัดเลือก

ข. เป็นหุ้นสามัญที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงอย่างสม่ำเสมอ คือ จะต้องเป็นหุ้นสามัญที่มีมูลค่าการซื้อขายรายเดือนบนกระดานหลัก สูงกว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อหุ้น ของหุ้นสามัญทั้งตลาดในเดือนเดียวกัน เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน ในช่วงระยะเวลาที่ใช้พิจารณา

ค. เป็นหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ก่อนวันที่ทำการพิจารณาคัดเลือก

หากว่ามีหุ้นสามัญที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวมากกว่า 50 หลักทรัพย์ ก็จะนำหุ้นทั้งหมดมาจัดลำดับอีกครั้งตามมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดเฉลี่ยรายวัน จากนั้นก็นำเอาหุ้นสามัญ 50 ลำดับแรกมาใช้คำนวณดัชนี SET 50 ส่วนหุ้นที่เหลือก็นำมาเป็นตัวสำรอง ถ้าเกิดหุ้นใน 50 ลำดับแรกมีอันเป็นต้องออกไปจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในทางตรงข้ามถ้าหากมีหุ้นสามัญที่ผ่านเกณฑ์น้อยกว่า 55 หุ้น เขาก็จะปรับเกณฑ์ในข้อ ข.โดยลดอัตราส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อหุ้นลงทีละ 5%
ในแต่ละครั้ง

วิธีการคำนวณ SET 50 Index
ใช้วิธีเดียวกันกับการคำนวณดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทุกอย่าง เว้นแต่ว่าเขาใช้ราคาของหุ้นจำนวน 50 หุ้นที่ผ่านหลักเกณฑ์การเลือกของเขาเท่านั้น ตลาดฯได้เริ่มคำนวณค่าดัชนี SET 50 Index มาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ।ศ. 2538 โดยกำหนดให้มีค่าเริ่มต้นที่ 100 จุด

การปรับรายการหลักทรัพย์
ตลาดฯกำหนดให้มีการพิจารณาปรับรายการหุ้นที่ใช้ในการคำนวณ SET 50 Index ทุกๆหกเดือน ในระหว่างวันที่ 1 – 31 ธันวาคม และ 1 - 30
มิถุนายน ของทุกปี โดยใชัหลักเกณฑ์การคัดเลือกเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และต้องมีการปรับฐานการคำนวณเพื่อให้ค่าดัชนีมีความต่อเนื่องเช่นเดียวกับที่ใช้สำหรับการคำนวณ SET Index นั่นเอง

สรุปแล้วคือไม่ว่าจะเป็นดัชนีตัวไหนก็จะแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดโดยรวม ดังนั้นหากคุณเชื่อว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดฯจะมีความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น ราคาหุ้นก็ควรจะมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ดัชนีเพิ่มสูงขึ้นด้วย


ที่มา :
http://www.mfcfund.com/php/new/BeforeInvestment_faq01.php

ทำไมจึงต้องลงทุนในตลาดหุ้น?

ทำไมจึงต้องลงทุนในตลาดหุ้น?

สำหรับผู้ที่มีเงินออมและประสงค์จะบริหารเงินออมของตนให้เกิดประโยชน์นั้น นอกเหนือจากการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินต่างๆ
เพื่อรับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว ยังมีทางเลือกอื่นๆสำหรับการบริหารเงินออมและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกหลายวิธี

การลงทุนในตลาดหุ้นก็นับเป็นทางเลือกหนึ่งของการลงทุนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้มีเงินออมมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ในอัตราที่สูงกว่าและหลากหลายรูปแบบกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการฝากเงินในธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถาณการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดต่ำลงอย่างมากอย่างในปัจจุบัน จึงไม่เป็นสิ่งจูงใจในต่อการฝากเงิน

สำหรับผู้ที่มีเงินออมเหลืออยู่แล้วนั้น จะถือเงินไว้เฉยๆ โดยไม่บริหารการเงินการลงทุนอะไรเลยก็คงจะไม่เหมาะนัก ดังนั้นจึงควรพิจารณาหาช่องทางการลงทุนอื่นๆ เพื่อเพิ่มพูนผลตอบแทนจากเงินออมของตนจะดีกว่า

ดังนั้น การลงทุนในตลาดหุ้น จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้มีเงินออม โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการความหลากหลายในการลงทุน ทั้งประเภทของสินค้าที่จะลงทุน ผลตอบแทนจากการลงทุน เพราะในตลาดหุ้น มีสินค้าหรือตราสารการลงทุนหลายประเภท ซึ่งออกโดย บริษัทที่ประกอบธุรกิจในหลายประเภทอุตสาหกรรม สำหรับให้เลือกลงทุนได้ตามความต้องการ ทั้งนี้ การเข้ามาลงทุน และถือหุ้นในกิจกิจการใดๆก็ตามในตลาดหลักทรัพย์ จะเกิดผลประโยชน์หลายประการ ทั้งต่อตนเอง และต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเราจะได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการต่างๆที่มีศักยภาพ หรือธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนทางการเงินจากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น ได้รับเงินปันผล สิทธิในการจองซื้อหุ้นออกใหม่ หรือ กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ การลงทุนในตลาดหุ้นยังถือได้ว่ามีบทบาทในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงตามมาด้วยเสมอ ดังนั้นผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างละเอียด
จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสามารถได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่น่าพึงพอใจตามที่คาดหวังได้
ที่มา : http://www.fpo.go.th/

หุ้น คืออะไร?

หุ้น คืออะไร?
หลังจากได้ทราบว่า ตลาดหุ้นคืออะไร มีวัตถุประสงค์และหน้าที่อย่างไรแล้วนั้น ต่อไปเราจะมาดูว่า ตลาดแห่งนี้มีสินค้าอะไรบ้าง ซึ่งสินค้าของตลาดหุ้นก็คือ หุ้นนั่นเอง ซึ่งสินค้าก็จะมีหลากหลายแบ่งแยกตามประเภทของสินค้า และตามความสนใจของนักลงทุน จริงๆแล้ว สินค้าเหล่านี้คงจะเคยผ่านสายตาใครหลายๆคนมาแล้ว ตามสื่อโทรทัศน์ซึ่งจะมีตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษต่างๆ วิ่งผ่านทางหน้าจอ
โดยอักษรเหล่านั้นจะเป็นตัวย่อของบริษัท ยกตัวอย่างเช่น MCOT ย่อมาจาก บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

ซึ่งสินค้าในตลาดหลักทรัพย์ เราเรียกโดยรวมว่า "ตราสาร" หมายถึง เอกสารทางการเงินที่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ออกมาเพื่อระดมเงินทุนจากผู้ลงทุน และเปิดให้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีอยู่หลายประเภท ดังนี้

1) หุ้นสามัญ (Common Stock)
คือหุ้นที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดซื้อขายกันอยู่ และมีจำนวนมากกว่า 80% ของหุ้นในตลาดทั้งหมด โดยหุ้นสามัญนี้เป็นตราสารประเภท หุ้นทุน ซึ่งออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด ที่ต้องการระดมเงินทุนจากประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในธุรกิจนั้นๆ โดยตรง เช่น การมีสิทธิในการลงคะแนนเสียง ร่วมตัดสินในปัญหาสำคัญในที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยผลตอบแทนที่คุณจะได้โดยตรงก็คือ เงินปันผลจากกำไรในธุรกิจ กำไรจากการขายหุ้นถ้าหุ้นปรับตัวขึ้น และสิทธิในการจองซื้อหุ้นใหม่ ในกรณีที่มีการเพิ่มทุนจดทะเบียน

2) หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock)
เป็นตราสารประเภทหุ้นทุน มีข้อแตกต่างจากหุ้นสามัญ คือผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับชำระคืนเงินทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการ หุ้นประเภทนี้มีไม่มากนักในตลาดหลักทรัพย์ มีการซื้อขายกันน้อย มีสภาพคล่องต่ำ บนกระดานหุ้นจะสังเกตุได้จาก -P เช่น SCB-P,TISCO -P เป็นต้น

3) หุ้นกู้ (Debenture)
เป็นตราสารที่บริษัทเอกชนออกเพื่อกู้เงินระยะยาวจากผู้ลงทุน โดยผู้ลงทุนจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของกิจการบริษัท และบริษัทจะต้องจ่ายผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือตามระยะเวลาและอัตราที่กำหนด โดยผู้ถือจะได้รับเงินต้นคืนครบถ้วน เมื่อสิ้นอายุตามระบุในเอกสาร ตลาดหุ้นกู้มักมีสภาพคล่องในการซื้อขายไม่มากนัก ส่วนใหญ่ซื้อขายโดย ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน หรือผู้ลงทุนระยะยาว

4) หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture)
หุ้นกู้แปลงสภาพ คล้ายคลึงกับ หุ้นกู้ แต่แตกต่างกันตรงที่ หุ้นกู้แปลงสภาพมีสิทธิที่จะแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ในช่วงเวลาอัตราและราคาที่กำหนดในหนังสือชี้ชวนในช่วงที่เศรษฐกิจดี หุ้นประเภทนี้ได้รับความนิยมมาก เพราะผู้ซื้อคาดหวังผลตอบแทน ได้จากราคาหุ้นเมื่อแปลงสภาพแล้ว ซึ่งจะทำให้ได้กำไรมากกว่า ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยของหุ้นกู้ธรรมดา

5) ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant)
เป็นตราสารที่ระบุว่าผู้ถือครองจะได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือตราสารอนุพันธ์ ในราคาที่กำหนดเมื่อถึงระยะเวลาที่ระบุไว้ ใบสำคัญแสดงสิทธิมักจะออกควบคู่กับการเพิ่มทุน

6) ใบสำคัญแสดงสิทธิระยะสั้น (Short - Term Warrant)
ใบสำคัญแสดงสิทธิชนิดนี้จะมีอายุไม่เกิน 2 เดือนและเป็นทางเลือกหนึ่งจากการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นแทนการจัดสรรสิทธิในการจองซื้อหุ้นและบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์สามารถยืนคำขอให้รับเป็นหลักทรัพย์ประเภทที่ซื้อขายหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์ได้

7) ใบสำคัญแสดงสิทธอนุพันธ์ (Derivative Warrant : DW)
เป็นตราสารที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับใบสำคัญแสดงสิทธิทั่วไป โดยจะให้สิทธิแก่ผู้ถือ DW ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งอาจเป็นหลักทรัพย์หรือดัชนีหลักทรัพย์ ในราคาใช้สิทธิ อัตราการใช้สิทธิและระยะเวลาใช้สิทธิที่กำหนดไว้ โดยบริษัทผู้ออก DW
เป็นหลักทรัพย์ หรือ เงินสดก็ได้

8) หน่วยลงทุน (Unit Trust)
คือ ตราสารที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.)ในรูปของหน่วยลงทุนของกองทุนรวมซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการระดมเงินทุนจากประชาชน โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะเป็นผู้บริหารกองทุนให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุดแล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในรูปของเงินปันผลข้อดีของการลงทุนประเภทนี้คือจะมีผู้บริหารมืออาชีพดูแลเงินแทนเรา มีการกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในหุ้นกลุ่มต่างๆ และมีอำนาจต่อรองที่มากกว่า เพราะเป็นกองทุนขนาดใหญ่

จะเห็นได้ว่า หุ้น มีอยู่หลากหลายประเภทแต่ละประเภทก็จะแตกต่างกัน ซึ่งนักลงทุนควรที่จะทำความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มลงทุน โดยในทางทฤษฎีแล้ว นักลงทุนทุกคนมักต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุดโดยมีความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด แต่ในความเป็นจริงผลตอบแทนในการลงทุนนั้น แปรผันตรงกับความเสี่ยง หมายความว่า ยิ่งผลตอบแทนสูง ยิ่งต้องมีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย นอกจากนี้การเลือกลงทุนยังขึ้นอยู่กับ อุปนิสัยของนักลงทุนแต่ละคนและเวลาที่นักลงทุนแต่ละคนจะมีด้วย ซึ่งอาจแบ่งเป็นกลุ่มง่ายๆ
ได้ดังนี้


ลักษณะของนักลงทุน หลักทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุน
- มีความเข้าใจระบบตลาดหลักทรัพย์เพียงพอ - หุ้นสามัญ
- มีเวลาศึกษาติดตามข้อมูลสถานการณ์ - หุ้นบุริมสิทธิ
- มีที่ปรึกษาการลงทุนที่เชี่ยวชาญ - หุ้นกู้แปลงสภาพ
- ต้องการผลตอบแทนรวดเร็วและพร้อมรับความเสี่ยง - ใบสำคัญแสดงสิทธิประเภทต่างๆ
- คาดหวังผลตอบแทนระยะยาว - หุ้นกู้
- เน้นการออมและการลงทุนระยะยาว - ตราสารในภาครัฐบาลและภาครัฐวิสาหกิจ
- ต้องการความเสี่ยงต่ำ หุ้นสามัญ ในกลุ่ม Blue - Chip บางตัว
- คาดหวังผลตอบแทนในระยะปานกลางถึงระยะยาว - หน่วยลงทุนในกองทุนต่างๆ
- ไม่เชี่ยวชาญในการซื้อขายหลักทรัพย์ - หน่วยลงทุนในกองทุนต่างๆ
- ไม่มีเวลาติดตามสถานการณ์ - หน่วยลงทุนในกองทุนต่างๆ
- ไม่มีความคล่องตัวในการลงทุน - หน่วยลงทุนในกองทุนต่างๆ

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตลาดหุ้นคืออะไร

เศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นหลายคนคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีทั้งขาขึ้น และขาลง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเศรษฐกิจเติบโตเต็มที่แบบฟองสบู่หรือช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤติทางด้านการเงินและวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนัก ในช่วงปี พ.ศ. 2540 ถึงปี 2542ทำให้บริษัท ห้างร้าน รวมถึงประชาชนทั่วไปตั่งแต่ระดับร่ำรวยจนถึงยากจน ล้มละลายและได้รับผลกระทบกันไปตามๆกัน
ทำให้หลายๆคนต้องดิ้นรนต่อสู้และทำทุกๆอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของตัวเองซึ่งเราได้ฝ่าฟันวิกฤติต่างๆที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี จนถึงในปัจจุบันนี้เศรษฐกิจของประเทศเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ

ซึ่งจากประสบการณ์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้แนวความคิดในการหารายได้ของคนเริ่มเปลี่ยนไป หลายคนเริ่มอยากที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากเป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง ซึ่งเมื่อหลายคนคิดแบบนี้กันมากขึ้น ทำให้มีภาวะการแข่งขันกันเพิ่มสูงขึ้น และเกิดปัญหาในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามมา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆในการที่จะเป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง

แต่อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่จะมาเติมเต็มความฝันของคนเหล่านี้ได้ นั่นก็คือ การร่วมเป็นเจ้าของกิจการกับบริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือการลงทุนในตลาดหุ้นนั่นเอง

ตลาดหุ้น คืออะไร?
ตลาดหุ้น หรือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ ตลาดซึ่งเป็นแหล่งรวมของบริษัทหลายๆ บริษัท ที่เข้ามาทำการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้ที่มีเงินเหลือเก็บ ซึ่งเราเรียกว่า "นักลงทุน" เข้ามาร่วมลงทุน และนักลงทุนเหล่านั้นก็จะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมถือหุ้นของบริษัทหรือร่วมเป็นเจ้าของในบริษัทนั้นๆ

การลงทุนในตลาดหุ้นจึงเป็นทางเลือกเพื่อการออมเงินในระยะยาวที่ผู้ออมสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการขาดทุนที่เกิดจากระดับอัตราเงินเฟ้อได้ ตลาดหลักทรัพย์จัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517

โดยมีวัตถุประสงค์
- เพื่อจัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อ ขาย หลักทรัพย์
- เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ และเพื่อการระดมเงินทุนในประเทศ

โดยได้เปิดให้มีการซื้อขายขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 โดยชื่อภาษาอังกฤษในขณะนั้น คือ "Securities Exchange of Thailand" และได้มีการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น "The Stock
Exchange of Thailand (SET)" เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา

สำหรับการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ และสนับสนุนการระดมเงินทุนระยะยาวของธุรกิจนั้น สามารถจำแนกออกได้ตามขนาดของธุรกิจที่ต้องการจะระดมทุน หรือ บริษัทจดทะเบียน โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่สนับสนุนการระดมทุนในตลาดทุนของธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ กิจการสาธารณูปโภค และรัฐวิสาหกิจที่มีการแปรรูป ซึ่งมีทุนชำระแล้วตั่งแต่ 200 ล้านบาท ขึ้นไป รวมทั้งเป็นศูนกลางการซื้อขายเปลี่ยนมือหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าว ในขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2528 ทำหน้าที่สนับสนุนการระดมทุนในตลาดทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีศักยภาพ หรือ SMEs ที่มีทุนชำระแล้วต่ำกว่า 200 ล้านบาท และเป็นศูนกลางการซื้อขายเปลี่ยนมือหลักทรัพย์ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดังกล่าว โดยเริ่มเปิดการซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2544

บทบาทและภาระหน้าที่ของตลาดหุ้น
)
1)ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนและพัฒนาระบบต่างๆที่จำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายหลักทรัพย์
2)ดำเนินธุรกิจใดๆที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น การทำหน้าที่เป็นสำนักหักบัญชี (Clearing House)ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ นายทะเบียนหลักทรัพย์ หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
3) การดำเนินธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา
http://www.fpo.go.th/