วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

6 ขั้นตอนการลงทุน คู่มือสำหรับผู้ลงทุนภายในประเทศ

6 ขั้นตอนการลงทุน คู่มือสำหรับผู้ลงทุนภายในประเทศ

ขั้นที่ 1 ทำความรู้จักกับสินค้า
ถ้าคุณเข้าใจว่าสินค้าแต่ละตัวคืออะไรแล้ว คุณก็จะสามารถ เลือกประเภทของสินค้าที่จะลงทุนตามความสนใจของคุณ ได้ง่ายขึ้น เรามีสินค้าหลากหลายให้คุณเลือกลงทุนได้ โดยหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนและมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มี 7 ประเภทด้วยกันคือ :
หุ้นสามัญ (ordinary shares)
หุ้นบุริมสิทธิ (preferred shares)
หุ้นกู้ (debentures)
หุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible debentures)
หน่วยลงทุน (unit trusts)
ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ (warrants)
ตราสารอนุพันธ์ (derivative warrants)

ขั้นที่ 2 รู้จักตัวเอง และเลือกบริษัทนายหน้าที่เหมาะสำหรับคุณ
ถามคำถามต่อไปนี้กับตัวคุณเอง ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าพร้อมหรือยังที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ :
จุดประสงค์ของการลงทุนในหลักทรัพย์ของคุณคืออะไร ?
คุณพร้อมจะรับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่คุณซื้อไว้แล้วหรือไม่ ?
คุณมีงบประมาณในการลงทุนเท่าไร ?
คุณต้องการลงทุนแบบใด ซื้อหุ้นเอง (single share) หรือลงทุนในกองทุนรวม (investment fund) ?
คุณจะเสี่ยงได้แค่ไหน ?

เมื่อคุณรู้จักความต้องการของตัวเองมากขึ้นแล้ว คุณควรตั้งคำถามต่อไปนี้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่คุณสนใจ เพื่อช่วยในการเลือกบริษัทที่จะทำหน้าที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการ ของคุณมากที่สุด
คุณต้องใช้เงินเท่าไรสำหรับการเปิดบัญชี ?
บริษัทให้บริการอะไรแก่คุณบ้าง ?
บริษัทคิดค่าธรรมเนียมเท่าไร ?
บริษัทมีแผนกวิจัยของตัวเองหรือไม่ ?
คุณจะได้รับข้อมูลวิจัย และข้อมูลอื่นของบริษัทเป็นประจำหรือไม่ ?
บริษัทจะส่งข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของตลาดให้คุณอย่างไร และบ่อยแค่ไหน ?

ขั้นที่ 3 การสั่งซื้อขายหลักทรัพย์
ถ้าคุณคิดว่า ตลาดหลักทรัพย์เป็นศูนย์กลางของการซื้อขายหลักทรัพย์ ความเข้าใจของคุณถูกต้อง แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณสามารถส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นให้กับตลาดหลักทรัพย์โดยตรง ความเข้าใจของคุณยังคลาดเคลื่อน เพราะว่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะต้องทำผ่านบริษัทสมาชิก (โบรกเกอร์) หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่มิใช่สมาชิก (ซับโบรกเกอร์) เท่านั้น

คำตอบของบริษัทหลักทรัพย์ต่อคำถามต่างๆในขั้นตอนที่ 2 จะเป็นข้อมูลให้คุณเลือกบริษัทหลักทรัพย์ที่คุณพอใจได้ หากคุณยังไม่ทราบดีถึงความแตกต่างระหว่างโบรกเกอร์และซับโบรกเกอร์ เราขอให้คำจำกัดความดังนี้ :

ในนิยามที่ใช้กันทั่วไปในธุรกิจหลักทรัพย์ไทย โบรกเกอร์คือบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย ส่วนซับโบรกเกอร์ ก็เป็นบริษัทหลักทรัพย์เช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ โดยโบรกเกอร์จะมีสิทธิส่งคำสั่งซื้อขายเข้าสู่ระบบซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ได้โดยตรงในขณะที่ซับโบรกเกอร์จะไม่สามารถติดต่อโดยตรงกับระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่จะต้องส่งคำสั่งซื้อหรือขาย ของคุณไปที่โบรกเกอร์ เพื่อให้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ให้อีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คุณสามารถเปิดบัญชีกับ บริษัทหลักทรัพย์ใดก็ได้ ถึงแม้ว่าบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวจะไม่ได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม
เมื่อคุณเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์แล้ว บริษัทจะต้องทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อย่าลืมสอบถามข้อมูลการวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่คุณสนใจ รวมทั้งข้อมูลอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ขั้นที่ 4 ทำความเข้าใจกับค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์
คุณจะต้องเสียค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่คุณซื้อหรือขายหลักทรัพย์ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมให้บริษัทนายหน้า หรือ โบรกเกอร์ ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่ซื้อหรือขาย (T+3 )นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผลและภาษีดอกเบี้ย เป็นต้น

ขั้นที่ 5 ศึกษาและติดตามข้อมูลก่อนและหลังการซื้อขายหลักทรัพย์
คุณควรจะศึกษาและติดตามข้อมูลทั้งก่อนและหลังการซื้อขาย โดยคุณสามารถใช้บริการข้อมูลต่าง ๆ ของ ตลาดหลักทรัพย์และของบริษัทนายหน้าของคุณซึ่งมีอยู่หลากหลายประเภท ทั้งที่ให้บริการฟรี และ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ขั้นที่ 6 รู้จักจังหวะเวลาในการตัดสินใจลงทุน
ก่อนตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ คุณควรขอคำปรึกษาจากแหล่งต่าง ๆ ก่อน เช่น จากโบรกเกอร์ของคุณ จากเพื่อน ๆ รวมทั้งหาข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์และแหล่งอื่น ๆ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น อย่าลืมว่า คุณจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเองในที่สุด ! อย่าลืมว่า การลงทุนใด ๆ ย่อมมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น แต่การวางแผนที่รอบคอบ
ช่วยให้ความเสี่ยงลดน้อยลงได้

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว คุณก็ได้ทำความเข้าใจครบ 6 ขั้นตอนสำหรับผู้ลงทุนหน้าใหม่แล้ว เราหวังว่าคู่มือนี้จะช่วยให้ คุณมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ดีขึ้น

http://www.set.or.th/th/education/invest/guide_p1.html