วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ดัชนีราคาหุ้นคืออะไร

ดัชนีราคาหุ้นคืออะไร

ดัชนีราคาหุ้น (เป็นชื่อเรียกเต็มที่เป็นทางการค่ะ แต่ต่อไปนี้จะขอเรียกสั้นๆว่า ดัชนี) เป็นตัวเลขที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำขึ้นเพื่อแสดงถึงความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญ (หุ้นทุน) ที่ทำการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ดัชนีที่แสดงในแต่ละวันนั้นเป็นดัชนีเปรียบเทียบระหว่าง มูลค่าตลาดรวมในวันปัจจุบัน ของหุ้นสามัญทั้งหมด กับ มูลค่าตลาดรวมในวันฐาน ของหุ้นเหล่านั้น (วันฐานคือวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มเปิดให้มีการซื้อขาย โดยใชัตัวเลขของฐานคือ 100 จุด)

เมื่อทราบถึงความหมายแล้วก็จะทำให้เข้าใจวิธีการคำนวณได้ง่ายขึ้น ต่อไปก็จะขอแสดงให้ดูสูตรที่ใช้ในการคำนวณดังนี้

ดัชนีราคาหุ้น = (มูลค่าตลาดรวมในวันปัจจุบัน x 1००) /มูลค่าตลาดรวมวันฐาน

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาหุ้นมีดังนี้
1. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้มูลค่าของหุ้นสามัญเท่านั้นที่นำเอามาคำนวณ แต่ไม่นำเอามูลค่าของหุ้นบุริมสิทธิ(Preferred Share) หรือใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) เข้ามาเป็นส่วนประกอบในการคำนวณ

2. เนื่องจากขนาดของบริษัทจดทะเบียนแต่ละบริษัทไม่เท่ากัน คือบางบริษัทจะมีจำนวนหุ้นมากกว่าบริษัทอื่นๆ ดังนั้นการคำนวณดัชนีราคาหุ้นในปัจจุบันจึงใช้วิธีถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาด (Value Weighted) นั่นคือบริษัทที่มีขนาดใหญ่ (มีจำนวนหุ้นมาก) จะมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีมากกว่าบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่า (มีจำนวนหุ้นน้อยกว่า)

3. มีการเปลี่ยนแปลงของหุ้นในตลาดอยู่เสมอ เช่น มีหลักทรัพย์เข้ามาจดทะเบียนใหม่ มีหุ้นที่เพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน บริษัทจดทะเบียนมีการเพิ่มทุนหรือลดทุน การรวมหรือควบกิจการ มีหลักทรัพย์ใดๆจะย้ายจากตลาดหลักทรัพย์ใหม่เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อดัชนีหุ้น คือ ทำให้เกิดการผันผวนผิดปกติของค่าดัชนี และไม่สะท้อนภาพการเคลื่อนไหวของตลาดโดยรวมได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในระดับราคาหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี

ดังนั้นจึงต้องมีการปรับฐานการคำนวณทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งสูตรการคำนวณมีความสลับซับซ้อน หากว่าคุณหรือผู้อ่านท่านใดสนใจใคร่รู้ในรายละเอียดจริงๆ สามารถดูสูตรการคำนวณของตลาดหลักทรัพย์ได้ใน website ของตลาดหลักทรัพย์ www.set.or.th

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีดัชนีอีกตัวหนึ่งเรียกชื่อว่า SET 50 Index ซึ่งเขาจะคำนวณและประกาศให้ประชาชนทราบทุกวันควบคู่กันไปกับตัวดัชนีราคาหุ้น(โดยรวม)ที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับ SET 50 Index นี้จะแสดงถึงความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจำนวนเพียง 50 หุ้นที่ผ่านการคัดเลือกโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ

หลักเกณฑ์การเลือกหลักทรัพย์ เพื่อให้ได้หุ้นจำนวน 50 หุ้นที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการนำมาคำนวณดัชนี SET 50 Index มีหลักเกณฑ์โดยย่อดังนี้

ก. เป็นหุ้นสามัญที่มีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดเฉลี่ยต่อวันสูงสุด 150 (ตัวเลข 150 นี้ถูกต้องแล้ว หากสงสัยว่าทำไมถึงต้องใช้ 150 หุ้น ก็กรุณาอ่านต่อไปนะคะ) อันดับแรกจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด (400 กว่าหุ้นค่ะ) โดยคำนวนจากมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดเฉลี่ยรายวันที่ปรากฎบนกระดานหลักในแต่ละเดือน
และคำนวณเฉลี่ยย้อนหลัง 12 เดือน นับจากวันที่ทำการพิจารณาคัดเลือก

ข. เป็นหุ้นสามัญที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงอย่างสม่ำเสมอ คือ จะต้องเป็นหุ้นสามัญที่มีมูลค่าการซื้อขายรายเดือนบนกระดานหลัก สูงกว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อหุ้น ของหุ้นสามัญทั้งตลาดในเดือนเดียวกัน เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน ในช่วงระยะเวลาที่ใช้พิจารณา

ค. เป็นหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ก่อนวันที่ทำการพิจารณาคัดเลือก

หากว่ามีหุ้นสามัญที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวมากกว่า 50 หลักทรัพย์ ก็จะนำหุ้นทั้งหมดมาจัดลำดับอีกครั้งตามมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดเฉลี่ยรายวัน จากนั้นก็นำเอาหุ้นสามัญ 50 ลำดับแรกมาใช้คำนวณดัชนี SET 50 ส่วนหุ้นที่เหลือก็นำมาเป็นตัวสำรอง ถ้าเกิดหุ้นใน 50 ลำดับแรกมีอันเป็นต้องออกไปจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในทางตรงข้ามถ้าหากมีหุ้นสามัญที่ผ่านเกณฑ์น้อยกว่า 55 หุ้น เขาก็จะปรับเกณฑ์ในข้อ ข.โดยลดอัตราส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อหุ้นลงทีละ 5%
ในแต่ละครั้ง

วิธีการคำนวณ SET 50 Index
ใช้วิธีเดียวกันกับการคำนวณดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทุกอย่าง เว้นแต่ว่าเขาใช้ราคาของหุ้นจำนวน 50 หุ้นที่ผ่านหลักเกณฑ์การเลือกของเขาเท่านั้น ตลาดฯได้เริ่มคำนวณค่าดัชนี SET 50 Index มาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ।ศ. 2538 โดยกำหนดให้มีค่าเริ่มต้นที่ 100 จุด

การปรับรายการหลักทรัพย์
ตลาดฯกำหนดให้มีการพิจารณาปรับรายการหุ้นที่ใช้ในการคำนวณ SET 50 Index ทุกๆหกเดือน ในระหว่างวันที่ 1 – 31 ธันวาคม และ 1 - 30
มิถุนายน ของทุกปี โดยใชัหลักเกณฑ์การคัดเลือกเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และต้องมีการปรับฐานการคำนวณเพื่อให้ค่าดัชนีมีความต่อเนื่องเช่นเดียวกับที่ใช้สำหรับการคำนวณ SET Index นั่นเอง

สรุปแล้วคือไม่ว่าจะเป็นดัชนีตัวไหนก็จะแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดโดยรวม ดังนั้นหากคุณเชื่อว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดฯจะมีความสามารถในการทำกำไรมากขึ้น ราคาหุ้นก็ควรจะมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ดัชนีเพิ่มสูงขึ้นด้วย


ที่มา :
http://www.mfcfund.com/php/new/BeforeInvestment_faq01.php