วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ธปท.เผยตัวเลข ศก.ไทย เดือน ก.ค.ชะลอตัว ห่วงเงินเฟ้อเพิ่มในอัตราเร่ง

ธปท.เผยตัวเลข ศก.ไทย เดือน ก.ค.ชะลอตัว ห่วงเงินเฟ้อเพิ่มในอัตราเร่ง

ธปท.เผยตัวเลข ศก.ไทย เดือน ก.ค.ชะลอตัว คาดแค่ชั่วคราว มั่นใจว่าแนวโน้มไตรมาส 3 ปีนี้จะขยายตัวได้ดี ส่วนเงินเฟ้อปรับตัวสูงต่อเนื่อง เป็นผลจากภาคเกษตรและอุตสาหกรมชะลอตัว รวมถึงการบริโภคในประเทศ แม้การลงทุนยังขยายตัวดี การส่งออกก็ขยายตัวดี จับตาลดราคาน้ำมัน เพิ่มอัตราเร่งเงินเฟ้อ

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม 2554 โดยพบว่า ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ รวมทั้งปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินที่ลดลงจากการปรับขึ้นราคา

นอกจากนี้ ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์เนื่องจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังขยายตัวต่อเนื่อง

ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาขยายตัวร้อยละ 10.1 หลังจากหดตัวใน 2 เดือนก่อน เพราะปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนนำเข้าจากญี่ปุ่น

ขณะที่เครื่องชี้รายการอื่นขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งปริมาณนำเข้าสินค้าทุน พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ สอดคล้องกับสินเชื่อภาคธุรกิจที่เร่งขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.0 สำหรับภาครัฐยังมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยขาดดุลเงินสด 38.6 พันล้านบาท

โดยภาพรวม การผลิตทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลง ส่วนอุปสงค์ในประเทศชะลอลง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวดี สำหรับอัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อและต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

"เศรษฐกิจเดือนกรกฎาคมขยายตัวชะลอลง เป็นผลจากภาคเกษตรและอุตสาหกรมชะลอตัว รวมถึงการบริโภคในประเทศ แม้การลงทุนยังขยายตัวดี การส่งออกก็ขยายตัวดี แต่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงจากการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าสูงขึ้น บวกกับต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้ายางรถยนต์และอุตสาหกรรมจะลัลบมาขยายตัวดี"

ส่วนอัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 2.1 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนที่แล้ว ร้อยละ 3.4 เป็นผลจากผู้บริโภคชขะลอการใช้จ่ายเพื่อรอนโยบายภาครัฐบาลใหม่ชัดเจนก่อน โดยเฉพาะนโยบายที่หาเสียงไว้ทั้งการสนับสนุนผู้มีบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก รวมทั้งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรลดลงด้วย แต่คาดว่าระยะต่อไปจะเห็นการกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว โดยเฉพาะการบริโภค

"ภาวะการผลิต การบริโภคที่ชะลอตัวลงในเดือนนี้น่าจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราว เพราะการบริดภคชะรอ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้ภาคเกษตรหดตัว และผู้บริโภคเองก็รอความชัดเจนของนโยบายจากภาครัฐ อย่างการซื้อบ้านหลังแรก ซื้อรถยนต์คันแรก ซึ่งสถานการณ์นี้น่จะเกิดชั่วคราว คาดว่าในระยะต่อไปน่าจะคลี่คลายได้ เพราะจากข้อมูลเบื้องต้นธปท.ยังเชื่อว่าการขยายตัวในไตรมาส 3 ปีนี้ น่าจะดีกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา"

นายเมธี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบจากนโยบายปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันด้วยการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันทันที อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมองว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จะเป็นประชาชนรายย่อยไม่ใช่ผู้ผลิต ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวจากการบริโภคน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,574 ล้านดอลลาร์ ดุลการชำระเงินเกินดุล 541 ล้านดอลลาร์ และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง

ทั้งนี้ อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวดีทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว โดยการส่งออกมีมูลค่ารวม 21,098 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 36.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน (หากไม่รวมทองคำ การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 30.2) เป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวและยางพาราขยายตัวดีทั้งด้านปริมาณและราคา ยานยนต์ส่งออกได้มากขึ้น หลังปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลาย พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัวดีตามอุปสงค์จากจีนและอาเซียน

สำหรับการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีจำนวน 1.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 21.5 เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียและรัสเซียเป็นสำคัญ

การลดลงของภาคอุตสาหกรรมและการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 13.1 (หากไม่รวมทองคำ การนำเข้าจะขยายตัวร้อยละ 21.1) เป็นการชะลอลงตามการนำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกที่หดตัวตามการปิดซ่อมบำรุงในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และการนำเข้าในหมวดยานยนต์ที่หดตัวตามการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป ขณะที่การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าในหมวดอื่นยังขยายตัวดี โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงที่เร่งตัวขึ้นหลังจากปิดปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันในเดือนก่อน


ที่มา
http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000110055