วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

คาดปัญหาหนี้เสียในยุโรปจบยาก ความเสี่ยงกรีซขึ้นอยู่กับวินัยการเงิน

คาดปัญหาหนี้เสียในยุโรปจบยาก ความเสี่ยงกรีซขึ้นอยู่กับวินัยการเงิน

นักวิเคราะห์บล.เอเชียพลัส มองปัญหาหนี้ยุโรปยังไม่คลี่คลาย ความเสี่ยงสำคัญอยู่ที่วินัยทางการเงินของกรีซ ว่าจะสามารถกลับมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในอนาคตได้หรือไม่ หากยังผิดชำระหนี้ต่อคาดอาจสร้างแรงกดดันต่อตลาดระลอกใหม่

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชียพลัส จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังจากสุดสัปดาห์ก่อนที่ประชุมสภาเยอรมันมีมติสนับสนุนร่างกฎหมายขยายเงินช่วยเหลือสมาชิกสหภาพยุโรป (EFSF) เพิ่มเป็น 4.4แสนล้านเหรียญยูโร (จากเดิม 2.5 แสนล้านเหรียญฯ) ทำให้คาดหมายว่าชาติอื่นๆ อีก 6 ชาติที่เหลือจะอนุมัติร่างกดหมายตามมา ทำให้ความกังวลต่อการเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่มีปัญหาในกลุ่ม PIIGS คลายความกังวลลงไปมาก โดยเฉพาะประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF-EU ไปแล้ว 3 ประเทศ คือ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ที่มียอดหนี้รวม 6.37 แสนล้านเหรียญยูโร เม็ดเงินน่าจะพอเพียงต่อการช่วยเหลือของ 3 ประเทศดังกล่าว (แม้ว่าอาจจะน้อยเกินไปหากเทียบกับอิตาลี และสเปน ที่มีหนี้รวมกันสูงราว 2.48 ล้านล้านเหรียญฯ)

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือทั้ง 3 ประเทศว่าจะดำเนินการตามแผนตัดลดขาดดุลงบประมาณ โดยไม่ถูกต่อต้านจากประชาชน พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตามเงื่อนไขได้หรือไม่ มากกว่าประเด็นของขนาดเม็ดเงินช่วยเหลือ ซึ่งล่าสุด รัฐบาลกรีซได้อนุมัติแผนตัดลดงบประมาณครั้งใหม่แล้ว ซึ่งหากเป็นไปตามเงื่อนไข และน่าพอใจตามที่กลุ่ม TROIKA (IMF, EU, ECB) ได้เข้าตรวจสอบและเตรียมหารือเพิ่มเติมซึ้งคาดว่า กรีซจะได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลืองวดที่ 6 ราว 8 พันล้านยูโร (หลังจากที่ 5 งวดแรกเบิกไปแล้วราว 60 พันล้านยูโร เป็นการเบิกจากกู้ช่วยเหลือก้อนแรก 110 พันล้านยูโร) ซึ่งหากหักส่วนที่เบิกไปแล้วจะเหลือเม็ดเงินที่กรีซสามารถเบิกได้อีกราว 50 พันล้านยูโร ซึ่งพอเพียงสำหรับหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 1 ปีข้างหน้า ที่มีอยู่ราว 52 พันล้านยูโร

ดังนั้นโดยสรุปปัญหาของวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปจะจบเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรักษาวินัยทางการเงินการคลังจากประเทศที่มีปัญหา เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่าจะสามารถนำเงินกลับมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ได้ในอนาคต โดยเฉพาะกรณีของกรีซ หากไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้กับ TROIKA ได้ หรือยังมีโอกาสผิดชำระหนี้ได้ ก็อาจจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดระลอกใหม่

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยบล.เอเชียพลัส มีมุมมองเชิงบวกต่อค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากที่สภาเยอรมันมีมติสนับสนุนร่างกฎหมาย เพิ่มเม็ดเงินช่วยเหลือสมาชิกสหภาพยุโรป (EFSF) ดังกล่าวข้างต้น แต่อย่างไรก็ตามวิกฤติความเชื่อมั่นในสหภาพยุโรปยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังกดดันบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะความกังวลว่าการผิดชำระหนี้ในกรีซ รวมไปถึงการหนีออกจากกลุ่มยุโรปอาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผลที่ตามมาก็คืออาจจะกระทบต่อวิกฤติความเชื่อมั่นต่อประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรที่เหลืออีก 16 ประเทศ

ขณะที่สถานการณ์ในสหภาพยุโรปเองก็อาจไม่ค่อยดีนัก กล่าวคือ ความเชื่อมั่นในกลุ่มประเทศสมาชิกยุโรปด้วยกันเองก็เสื่อมถอยลง หลังจากเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะใน PIIGS โดยเฉพาะประเทศสมาชิกยุโรป ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลกรีซ เพราะถูกมองว่าไม่เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ เช่นเดียวกับรัฐบาลอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของยุโรป ก็เริ่มถูกมองว่าอาจจะเข้าสู่วิกฤติได้เช่นเดียวกัน โดยสรุปวิกฤติความเชื่อมั่นในยุโรปที่ยังคงมีอยู่นี้อาจจะทำให้ค่าเงินยูโรปอาจจะทรงตัวในระยะสั้นโดยยืนอยู่ที่ 1.3 เหรียญฯต่อยูโรระยะหนึ่ง และอาจจะไม่ฟื้นตัวเร็วดังที่คาดไว้ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกว่าจะมีอัศวินม้าขาว ที่มีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาดในการออกมาตรการช่วยเหลือกรีซ ให้รอดพ้นจากวิกฤติรอบนี้


ที่มา
http://www.manager.co.th/MutualFund/ViewNews.aspx?NewsID=9540000125859